คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สหกรณ์โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ พ.ศ. 2520 ข้อ 8 ว่า เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์จะเก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ไว้ได้ไม่เกินหนึ่งพันบาท เงินสดส่วนที่เกินให้นำส่งเข้าฝากในธนาคารที่สหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ในกรณีจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันในเวลานั้น ๆ ให้ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการทราบและให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกที่เปิดทำการ เงินสดที่เก็บรักษาไว้ดังกล่าวข้างต้นให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของสหกรณ์ ซึ่งจำเลยทราบระเบียบดังกล่าวดีอยู่แล้วการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกลับเก็บรักษาเงินสดของโจทก์ไว้เป็นจำนวนมากถึง43,878.22 บาท โดยละเลยไม่นำส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทไปฝากธนาคาร ทั้งไม่ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์รับทราบ และเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัย เก็บเงินไว้ในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ห่างตู้นิรภัยเพียง 1 เมตร ง่ายต่อการที่คนร้ายจะค้นพบแล้วนำไปไขเปิดตู้นิรภัยนั้นพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้ามางัดโต๊ะทำงานและค้นได้ลูกกุญแจนำไปไขตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวข้างต้นไป ความเสียหายย่อมเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถลักเงินสดของโจทก์ไป ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่ถูกลักพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุที่เงินหายเพราะมีคนร้ายเข้ามาโจรกรรมโดยงัดโต๊ะทำงานของจำเลย เอาลูกกุญแจตู้นิรภัยไปไขตู้นิรภัย แล้วลักเงินไปเอง จำเลยจึงไม่ได้ทำละเมิดโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 43,878.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยฝ่าฝืนระเบียบก็ดีหรือเก็บลูกกุญแจไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานก็ดียังไม่เป็นการประมาทเลินเล่อและไม่เป็นการละเมิดนั้นเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยในปัญหานี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นเหรัญญิกมีหน้าที่เก็บรักษาเงินของโจทก์โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์พ.ศ. 2520 ข้อ 8 ว่า ‘เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์จะเก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ไว้ได้ไม่เกินหนึ่งพันบาท เงินสดส่วนที่เกินให้นำส่งเข้าฝากในธนาคารที่สหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ในกรณีจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันในเวลานั้น ๆ ให้ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการทราบและให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกที่เปิดทำการ เงินสดที่เก็บรักษาไว้ดังกล่าวข้างต้นให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของสหกรณ์(ในระหว่างที่สหกรณ์ยังไม่มีตู้นิรภัยให้ประธานกรรมการนำฝากไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2525จำเลยได้เก็บเงินสดจำนวน 43,878.22 บาท ของโจทก์ไว้โดยไม่นำเข้าฝากธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชี จำเลยได้นำเงินเข้าเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการโดยไม่ได้ทำบันทึกเสนอเพื่อขออนุมัติต่อประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์ ต่อมามีคนร้ายงัดโต๊ะที่จำเลยเก็บลูกกุญแจตู้นิรภัยไว้แล้วนำลูกกุญแจไปไขตู้นิรภัยเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ไปพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทราบระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของโจทก์ดีอยู่แล้วว่าห้ามมิให้เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เก็บรักษาเงินสดไว้เกินจำนวนหนึ่งพันบาท เงินส่วนที่เกินให้ฝากธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันตามเวลา ให้ทำบันทึกเสนอประธานหรือรองประธานกรรมการโจทก์ทราบ และให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกเปิดทำการ แต่จำเลยก็ไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว กลับเก็บรักษาเงินสดของโจทก์ไว้เป็นจำนวนมากถึง 43,878.22 บาท โดยละเลยไม่ยอมนำส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทไปฝากธนาคาร ทั้งไม่ทำบันทึกเสนอให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์ทราบอีกด้วย ส่วนลูกกุญแจตู้นิรภัยเก็บเงินจำเลยก็ไม่ได้เก็บรักษาตามระเบียบ แต่กลับนำไปเก็บในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ห่างตู้นิรภัยเพียงประมาณ 1 เมตร ง่ายต่อการที่คนร้ายจะค้นหาพบแล้วนำไปไขเปิดตู้นิรภัย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้ามางัดโต๊ะทำงาน และค้นได้ลูกกุญแจนำไปไขตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวไป ย่อมเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share