คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2516

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมหมดสิทธิที่จะได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ผู้รับพินัยกรรมได้
ที่พิพาทตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดก แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ก็ย่อมถูกตัดมิให้รับมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับที่พิพาทแล้ว จึงไม่มีทางจะถือเอาประโยชน์จากอายุความ 1 ปีได้ จำเลยที่ 1 ผู้รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในฐานะผู้ชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยกอายุความ1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ดุจกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภริยาของนายเสนอ รัศมิทัต และเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสนอตามคำสั่งศาล นายเสนอได้ทำพินัยกรรมยกที่สวนตำบลปลายคลองบางปะแก้ว จังหวัดธนบุรี แก่จำเลยที่ 2และนายมานิตย์ รัศมิทัตคนละครึ่ง อาวุธปืนหนึ่งกระบอกให้นายมานิตย์ด้วย ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ให้โจทก์ได้แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรนายเสนอได้ไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดินส่วนของนายเสนอตามตราจองเลขที่ 62 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายเสนอมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่โดยการฉ้อฉลและปกปิดความจริงที่ควรแจ้งต่อเจ้าพนักงาน อ้างว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับมรดกที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงจดทะเบียนลงชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนนายเสนอ ซึ่งเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และนายเสนอครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายเสนอ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้ตามพินัยกรรม ขอให้พิพากษาทำลายการโอนรับมรดกที่ดินของจำเลยที่ 2 และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 1 เสีย ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายเสนอตามโฉนดเลขที่ 13014 ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้นายเสนอผู้วายชนม์เป็นสามี โดยนายเสนอไม่มีทรัพย์สมบัติมาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ที่พิพาทเดิมเป็นของจำเลยที่ 1 นายเสนอขอมีชื่อร่วมในตราจองเพื่อนายเสนอจะยกที่ดินครึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ที่พิพาทเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมในวันเปิดพินัยกรรมโจทก์ได้ลงชื่อในบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า จะรับมรดกของนายเสนอเฉพาะบำนาญตกทอดเท่านั้น ไม่เรียกร้องเอาทรัพย์สินใด ๆ รวมทั้งที่พิพาทด้วย จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่พิพาทนับแต่นายเสนอบิดายกให้ตลอดมา จึงได้ขอประกาศรับมรดกโดยไม่มีบุคคลใดคัดค้าน ความจริงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โอนที่พิพาทระหว่างกันด้วยการแลกเปลี่ยนที่ดินกัน ทั้งตัดฟ้องว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามมาตรา 1754แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์อ้างว่า ครึ่งหนึ่งของที่พิพาทเป็นสินสมรสส่วนของโจทก์ อันมิใช่มรดกศาลก็จะบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกที่พิพาทจากจำเลยทั้งสองทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดก ตามพินัยกรรมของนายเสนอได้ยกที่พิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทตามมาตรา 1755 ที่จะยกอายุความมรดกขึ้นยันโจทก์ได้เพราะจำเลยที่ 2 ถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608 วรรคท้าย ทั้งจำเลยที่ 1 ก็จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้เช่นกัน โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปีแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 มาตรา 1755 บัญญัติว่า “อายุความหนึ่งปีนั้นจะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก” เห็นว่า ทายาททั้งหลายใช่ว่าจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เสมอไป ต้องแล้วแต่กรณีเป็นเรื่อง ๆ ไปโดยเฉพาะทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมหามีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ผู้รับพินัยกรรมได้ไม่ เพราะหมดสิทธิจะได้รับมรดกแล้วตามมาตรา 1608 ข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยต่างมีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงอ้างอายุความขึ้นยันโจทก์ได้นั้น เป็นข้ออนุโลมเอาเองรับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยยอมรับในฎีกาแล้วว่า ที่พิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของนายเสนอเจ้ามรดกตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมถูกตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับที่พิพาทแล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นทายาทโดยธรรมของนายเสนอ ก็ไม่มีทางจะถือเอาประโยชน์จากอายุความหนึ่งปีได้เพราะขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงจะได้รับโอนที่พิพาทไว้โดยจดทะเบียนการโอน ก็อยู่ในฐานะผู้ชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยกขึ้นต่อสู้ไม่ได้ดุจกัน สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์จะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำนองยอมสละมรดกเกี่ยวกับที่พิพาทแล้วอันทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับมรดกที่พิพาทแทนโจทก์นั้น เห็นว่า เป็นคนละเรื่องกับปัญหาอายุความมรดกจะเอามาปะปนกันไม่ได้ ทั้งเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันอยู่ยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดประการใด อีกทั้งในชั้นนี้ไม่มีปัญหาว่าโจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจะเรียกร้องเอาที่พิพาทคืนจากจำเลยได้หรือไม่ เมื่อจำเลยจะยกอายุความมรดกหนึ่งปีขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ตามมาตรา 1755 จะถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหาได้ไม่ ศาลก็จะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

จึงพิพากษายืน

Share