แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความที่จำเลยที่ 1 พูด เป็นการพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งแปลความหมายได้ว่าโจทก์เป็นคนเจ้าชู้ จำเลยที่ 1 จึงลาออกจากงานเพราะกลัวตนเองจะเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่กล่าวหาว่าโจทก์ได้กระทำการอันเป็นการลวนลามจำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ข้อความที่แปลความหมายได้เพียงว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้นี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “เจ้าชู้” หมายความถึง ผู้ใฝ่ในการชู้สาว เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชาย ตามความรู้สึกของสังคมหรือคนทั่วไปที่ได้ยินข้อความที่จำเลยที่ 1 พูด ก็ไม่อาจมีความรู้สึกได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของผู้ชายซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะใฝ่ในทางชู้สาวได้ คำพูดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ส่วนคำพูดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการพูดภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พูดแล้วนั้น ก็เป็นการยืนยันถึงความเป็นคนเจ้าชู้ของโจทก์ ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่จำเลยที่ 1 และไม่เคยกระทำการอันเป็นการก้าวล่วงลวนลามจำเลยที่ 1 ให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด แต่การกระทำของโจทก์เป็นการหยอกล้อจำเลยที่ 1 เหมือนหมาหยอกไก่ ที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากงานและไม่ให้ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ใช่เพราะกลัวโจทก์แต่อย่างใดไม่ แต่กลัวคนอื่นจะเข้าใจผิด อันเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของโจทก์ว่าโจทก์ไม่เคยทำอะไรให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายมาก่อน คำพูดของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองพูดหมิ่นประมาทโจทก์ต่อหน้าพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดประมวลสยาม โดยจำเลยที่ 1 พูดว่าโจทก์จะซื้อแหวนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จะผ่อนคืนราคาแหวนหรือไม่ก็ได้ โจทก์เคยให้กระเป๋าสตางค์ ซึ่งมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในกระเป๋า โจทก์ถูกรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาลแล้วให้เงินจำนวน 6,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 โจทก์เคยจับมือจำเลยที่ 1 โจทก์เคยขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปส่งบ้านของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องตัดสินใจออกจากการเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และเพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 พูดว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจดังที่จำเลยที่ 1 บอกข้างต้นอันเป็นการกระทำแบบหมาหยอกไก่ หากจำเลยที่ 1 ไม่ว่าอะไรเรื่องก็คงจะเงียบไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมด้วย จำเลยที่ 2 เคยแนะนำให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นพนักงานตั้งนานแล้ว และบอกจำเลยที่ 1 ด้วยว่าอย่าไปทำงานล่วงเวลา ทุกคนอาจเข้าใจว่าเรื่องอาจเลยเถิดไปถึงไหนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 จะท้าพิสูจน์อย่างไรได้ เพราะเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยังบริสุทธิ์อยู่ คงไม่เลยเถิดถึงขึ้นเป็นสามีภริยากันการที่จำเลยทั้งสองใส่ความโจทก์ น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดประมวลสยาม โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1เป็นพนักงานและทำงานที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดประมวลสยามมาตั้งแต่ปี 2532และได้ลาออกจากห้างเมื่อปี 2541 หลังจากจำเลยที่ 1 ออกจากห้างไปแล้วในวันเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้มาที่ห้าง จำเลยที่ 1 ได้พูดกับพนักงานของห้างถึงสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ลาออกว่า “โจทก์จะซื้อแหวนให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะผ่อนคืนราคาแหวนหรือไม่ก็ได้ โจทก์เคยให้กระเป๋าสตางค์ซึ่งมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในกระเป๋า โจทก์ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วให้เงิน 6,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 โจทก์เคยจับมือ จำเลยที่ 1 โจทก์เคยขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปส่งที่บ้านของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานของห้าง เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และเพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่จำเลยที่ 1” และจำเลยที่ 2 ได้พูดว่า “โจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจปฏิบัติตนต่อจำเลยที่ 1 ในลักษณะหมาหยอกไก่ ถ้าจำเลยที่ 1 เล่นด้วยเรื่องก็เงียบไปแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอม จำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 แนะนำให้จำเลยที่ 1 ออกจากงาน และห้ามมิให้จำเลยที่ 1ทำงานล่วงเวลาเพราะไม่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจว่าเรื่องได้เลยเถิดไปไกลแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังบริสุทธิ์อยู่จะท้าพิสูจน์ที่ไหนอย่างไรก็ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คงไม่เลยเถิดไปถึงขั้นสามีภริยา และโจทก์เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม ถ้าเรื่องทราบถึงคนอื่นจะทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น น่าจะเจรจากันเพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อ” คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองพูดนั้นหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 พูดนั้น เป็นการพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองซึ่งแปลความหมายได้ว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้ จำเลยที่ 1 จึงลาออกจากงานเพราะกลัวตนเองจะเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่กล่าวหาว่า โจทก์ได้กระทำการอันเป็นการลวนลามจำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ข้อความที่แปลความหมายได้เพียงว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “เจ้าชู้” หมายความถึง ผู้ใฝ่ในการชู้สาวเมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชาย ตามความรู้สึกของสังคมหรือคนทั่วไปที่ได้ยินข้อความที่จำเลยที่ 1 พูดก็ไม่อาจมีความรู้สึกได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใดแต่เป็นเรื่องของผู้ชายซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะใฝ่ในทางชู้สาวได้ คำพูดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนคำพูดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการพูดภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พูดแล้วนั้น ก็เป็นการยืนยันถึงความเป็นคนเจ้าชู้ของโจทก์ ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่จำเลยที่ 1 และไม่เคยกระทำการอันเป็นการก้าวล่วงลวนลามจำเลยที่ 1 ให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใดแต่การกระทำของโจทก์เป็นการหยอกล้อจำเลยที่ 1 เหมือนหมาหยอกไก่ที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากงานและไม่ให้ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ใช่เพราะกลัวโจทก์แต่อย่างใดไม่ แต่กลัวคนอื่นจะเข้าใจผิด อันเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของโจทก์ว่าโจทก์ไม่เคยทำอะไรให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายมาก่อนคำพูดของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน