คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3015/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกระทำการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522ที่แก้ไขแล้วมาตรา31นอกจากจะต้องลงโทษตามมาตรา65วรรคหนึ่งจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแล้วยังต้องปรับรายวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนตามมาตรา65วรรคสองอีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันที่5 สิงหาคม 2536 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมขนาด 32 ชั้น (ใต้ดิน 2 ชั้น) จำนวน 1 หลังซึ่งเป็นอาคารของบริษัท ซี.เอ็ม.ไอ.ซี. ดีเวลล้อปเมนท์ จำกัดที่มีความสูงเกิน 10 เมตร และตั้งอยู่ที่ซอยอโศก (สุขุมวิท 21)ซึ่งเป็นถนนสาธารณะได้ควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวข้างต้นโดยไม่จัดทำแผงเหล็กและตาข่ายติดตั้งไว้ทุกชั้นของอาคารที่กำลังก่อสร้างเพื่อป้องกันวัสดุร่วงหล่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สินของประชาชน และจำเลยควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยก่อสร้างให้เกิดเสียงและแสงรบกวนผู้อยู่อาศัยข้างเคียงในระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแล้ว การก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากวิธีการและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคารเลขที่ 1758/2535 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 8, 31,65, 70 ที่แก้ไขแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31(3), 65 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง,70 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 6 เดือนและปรับ 100,000 บาทกับปรับอีกวันละ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท กับปรับอีกวันละ 2,500 บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน (1 พฤศจิกายน 2535) จนกว่าจะได้ปฎิบัติให้ถูกต้อง (5 สิงหาคม 2536) โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับจำเลยรายวัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าจะปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2536 ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 31 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตและมาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนวรรคสอง บัญญัติว่า นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติ ตามมาตรา 31 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฎิบัติให้ถูกต้อง เห็นว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติ ตามมาตรา 31 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม2536 ดังนั้น นอกจากจะต้องลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งแล้ววรรคสองของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ปรับเป็นรายวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมาตรา 31 คือตลอดเวลาที่ยังควบคุมการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากวิธีการและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารเลขที่ 1758/2535จึงต้องปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดระยะเวลาดังกล่าวด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ปรับจำเลยเป็นรายวันไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นรายวันตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share