แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(3) เป็นบทบัญญัติซึ่งใช้บังคับแก่การฟ้องเริ่มคดีต่อศาลไทยด้วยการฟ้องบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ตั้งตัวแทนให้ฟ้องจำเลยต่อศาลไทยและตัวแทนโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลไทยแล้วจึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลไทยจำเลยให้การและฟ้องแย้งโจทก์ในขณะเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมาตรา 4(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเบอร์มิวดา มีภูมิลำเนาอยู่ที่นครแฮมิลตันเกาะเบอร์มิวดา โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวรธรรมฟ้องและดำเนินคดีในศาลทั้งปวงในประเทศไทย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาซื้อขายรถปั้นจั่น 1 เครื่องจากโจทก์ โจทก์ส่งรถปั้นจั่นมายังประเทศไทยแล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมรับสินค้าและไม่ยอมชำระราคา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,699,616.63 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยส่งมอบรถปั้นจั่นล่าช้า เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหลายประการคิดเป็นเงิน 6,856,719.75 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 240,000 บาท จนกว่าคดีถึงที่สุดแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำให้การของจำเลยทั้งสอง ส่วนฟ้องแย้งเห็นว่าโจทก์ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย จึงไม่รับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้นายวรธรรมฟ้องคดีนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมถือว่าโจทก์ได้เข้ามาในประเทศไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(3) จึงพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นให้รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่ได้ตั้งตัวแทนให้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์ในขณะเดียวกัน คดีมีประเด็นว่าจำเลยจะฟ้องแย้งโจทก์ได้หรือไม่เห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(3) เป็นบทบัญญัติซึ่งใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งประสงค์จะเริ่มคดีต่อศาลในประเทศไทยด้วยการฟ้องบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยได้เริ่มต้นคดีโดยฟ้องจำเลยในศาลไทยก่อน จึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลไทยแล้ว กรณีตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติในสี่มาตราก่อนนั้น ต้องอยู่ภายในข้อบังคับต่อไปนี้ (1) บรรดาคำฟ้องที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดให้เสนอต่อศาลนั้น” เมื่อจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การ คำฟ้องแย้งดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) และคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายแต่จำเลยกล่าวแก้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกัน คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลแพ่ง ดังนั้น จำเลยจึงชอบที่จะยื่นฟ้องแย้งโจทก์ต่อศาลแพ่งได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(1)ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมาตรา 4(3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน