คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นช่างตัดผมอยู่ที่ร้านของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ออกอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ค่าตัดผมที่โจทก์ตัดจำเลยได้ร้อยละ 40 โจทก์ได้ร้อยละ 60 ไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลักษณะเห็นได้ว่าจำเลยไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ โดยเป็นทำนองจำเลยมีร้านตัดผมและอุปกรณ์แต่ไม่สามารถตัดเองได้ ก็หาประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้ช่างตัดผมเข้ามาทำการตัดผมในร้านของจำเลยและแบ่งรายได้ที่ช่างตัดผมได้รับเป็นของจำเลยส่วนหนึ่ง การทำงานของโจทก์เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งค่าจ้างจากลูกค้า ค่าจ้างที่โจทก์ได้รับมิใช่ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยต่อมาจำเลยจะเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ไม่ยินยอมจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมิใช่นายจ้างของโจทก์ แต่ได้สัญญากันประกอบกิจการตัดผม โดยจำเลยเป็นเจ้าของสถานที่และอุปกรณ์ โจทก์เป็นผู้ตัดผม ได้เงินแล้วโจทก์ได้ร้อยละ 60 จำเลยได้ร้อยละ 40 จำเลยจะขอขึ้นค่าไฟฟ้า โจทก์ไม่ยอม โจทก์ที่ 7 ด่าว่าและขู่จะทำร้ายจำเลยจำเลยจึงไล่โจทก์ที่ 7 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 พากันเลิกสัญญาเอง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเป็นการตกลงกันประกอบกิจการเพื่อหาผลประโยชน์มาแบ่งกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายออกทุน โจทก์เป็นฝ่ายออกแรงและฝีมือ ไม่ใช่ลักษณะของนายจ้างลูกจ้าง เมื่อจำเลยเห็นว่าไม่สามารถร่วมงานกับโจทก์ได้จึงบอกเลิกเสีย หาใช่เป็นการเลิกจ้างไม่ โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยไม่พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 “ลูกจ้าง”หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ฯลฯ ลักษณะการทำงานของโจทก์และจำเลยเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ โจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการลา เพียงแต่เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานก็บอกกล่าวให้จำเลยทราบทั้งนี้เพื่อจำเลยจะได้แจ้งแก่ลูกค้าทราบ และเป็นการสะดวกแก่การจัดรอบการทำงาน หากโจทก์คนใดขาดไปบ่อย ๆ จะถูกจำเลยว่าเอาบ้างก็เป็นการบ่นว่าธรรมดา ไม่มีผลเกี่ยวกับการที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ งานที่โจทก์และจำเลยทำเป็นทำนองจำเลยมีร้านตัดผมและอุปกรณ์พร้อมแต่ไม่สามารถตัดเองได้ ก็หาประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้ช่างตัดผมเข้ามาทำการตัดผมในร้านของจำเลย และแบ่งรายได้ที่ช่างตัดผมได้รับเป็นของจำเลยส่วนหนึ่ง การทำงานของโจทก์เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าจ้างจากลูกค้า ค่าจ้างที่ได้รับเป็นเงินที่ลูกค้าจ่ายให้แก่โจทก์และเป็นผลอันเกิดจากการตัดผมให้แก่ลูกค้าโดยตรง จำเลยเพียงแต่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งค่าจ้างดังกล่าวส่วนหนึ่งในฐานะเป็นเจ้าของร้านเครื่องอุปกรณ์ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เท่านั้น ค่าจ้างที่โจทก์ได้รับมิใช่เป็นค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลย

พิพากษายืน

Share