แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่2ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นจะมีผลจนกว่าจำเลยที่2จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตามแต่ที่ดินที่จำเลยที่2นำมาเป็นหลักประกันนั้นศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่นจึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่2ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดดังกล่าวและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1300แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวผู้ร้องซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)ไม่มีเหตุตามกฎหมายใดในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,284,405 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ากรมสรรพากร โดยสำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานครได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุมนสังสิทธิโดยนางสุมน สังสิทธิหุ้นส่วนผู้จัดการ (ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2คดีนี้) ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดมี 41 รายการ ผู้ร้องได้ประมูลสู้ราคาที่ดิน โฉนดเลขที่ 20660 และ 20663 อันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ประกาศขายทอดตลาดได้ในราคา 535,000 บาท และ 480,000 บาทตามลำดับ ซึ่งผู้ร้องได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วและกรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงแก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้เพราะศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ตามคดีนี้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าวและแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพราะผู้ร้องไม่ใช่คู่ความคดีนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดิน และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันยังต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันที่เสนอศาลจนกว่าจำเลย (ทั้งสาม) จะชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษา
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งที่ห้ามเจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20660 และ 20663 ตำบลลำปลาทิว )คลองสี่ออก)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ)กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือลงวันที่16 มกราคม 2533 เสีย และแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน 23 แปลง ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีที่ดินโฉนดเลขที่ 20660 และ 20663 ตำบลลำปลาทิว (คลองสี่ออก)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับ โดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นต้องถือว่าสัญญาค้ำประกันมีผลอยู่ต่อไปจนกว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษากลับเมื่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลต่อไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วน และผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าแม้หนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันนั้นศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20660 และ 20663 อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดดังกล่าวและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งที่ห้ามเจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมใด ๆเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน