คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บ. เอารถยนต์ของ บ. ประกันภัยการสูญหายไว้กับโจทก์และฝากรถยนต์นั้นไว้กับจำเลย รถหาย โจทก์ได้จ่ายเงินค่าประกันภัยให้ บ. แล้วจึงรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย กรณีมิใช่เป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 ซึ่งเป็นอายุความใช้สิทธิเรียกร้องในความรับผิดเพื่อใช้เงินค่าบำเหน็จ ค่าใช้จ่ายและค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ หากเป็นกรณีเกี่ยวกับเรื่องฟ้องเรียกร้องให้ชดใช้ราคาทรัพย์ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
โจทก์จำเลยท้ากันข้อหนึ่งว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ซึ่ง บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ ตามคำท้าดังกล่าวมีความหมายชัดตามตัวอักษรว่ารับกันว่า บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาให้เป็นดังข้อท้าหาได้ไม่ แม้เอกสารที่รับกันจะมีข้อความว่า ส. เป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้ฝากรถ ก็ต้องฟังว่า บ. เป็นเจ้าของรถที่แท้จริงตามที่คู่ความรับกันและ ส. มีชื่อตามเอกสารดังกล่าวแต่ในนามแทน บ. เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบุญชัย สุรวัติเสถียร เจ้าของรถยนต์ ก.ท.ร. – 0808 ซึ่งประกันภัยกันการสูญหายไว้กับจำเลย 30,000 บาท ได้นำรถนั้นไปฝากไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยโดยเสียค่าเช่าเป็นรายเดือน วันที่ 30 เมษายน 2516 ปรากฏว่ารถที่นำมาฝากไว้หายไป ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ โจทก์ได้จ่ายเงินค่ารถ 30,000 บาทให้แก่นายบุญชัยแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิ โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยไม่ชำระจึงขอให้บังคับให้จำเลยชำระ

จำเลยให้การว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่ใช่ของนายบุญชัย เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงการไฟฟ้า ได้นำมาเช่าที่จอดรถกับจำเลย ซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย ฟ้องโจทก์เกิน 6 เดือน ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้

คู่ความตกลงท้าประเด็นเป็นข้อแพ้ชนะในปัญหาข้อกฎหมาย 3 ข้อ คือ

1. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

2. โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ และ

3. โจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ ก.ท.ร – 0808 ซึ่งนายบุญชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่

หากศาลวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายใด อีกฝ่ายยอมแพ้คดีและตกลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารว่ามีอยู่และมีข้อความตามเอกสารนั้น ๆ จริง ต่างไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่ขาดอายุความ รถยนต์รายพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงการไฟฟ้าและรับประกันไว้ในนามของห้างดังกล่าวข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยเป็นการนอกฟ้อง โจทก์มิได้รับช่วงสิทธิมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงไฟฟ้า จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์รายพิพาทคู่ความรับกันตามประเด็นที่ท้ากันในข้อ 3 แล้วว่านายบุญชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีก คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนอกคำท้า โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย กรณีเป็นการเรียกเอาทรัพย์ที่ฝากคืน อายุความ 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมิได้มุ่งหมายรับว่านายบุญชัยเป็นเจ้าของรถยนต์ แต่เจตนามุ่งให้วินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามเอกสารว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ร. 0808 เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงการไฟฟ้า โจทก์จะได้รับช่วงสิทธิและมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ตีความตามตัวอักษรไม่พิจารณาเจตนาจึงไม่ถูกต้อง คดีขาดอายุความตามมาตรา 671 แล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อ 3 ที่คู่ความตกลงท้ากันให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายมีข้อความว่า “โจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ ก.ท.ร. – 0808 ซึ่งนายบุญชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่” ปัญหาว่าตามข้อท้านี้ได้มีการรับข้อเท็จจริงเรื่องใครเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามข้อท้าดังกล่าวคำว่า “รถยนต์ ก.ท.ร. – 0808 ซึ่งนายบุญชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” มีความหมายชัดตามตัวอักษรว่ารับกันว่า นายบุญชัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ก.ท.ร. – 0808 คงเหลือเป็นข้อกฎหมายให้ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์จะมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ ก.ท.ร. – 0808 หรือไม่เท่านั้น เมื่อตามข้อท้ามีข้อความที่คู่ความรับรองข้อเท็จจริงกันเองอย่างแจ้งชัดเช่นนี้ก็ต้องฟังตาม จะมาอ้างว่าไม่มีเจตนาให้เป็นดังข้อท้านั้นไม่ได้ แม้เอกสารที่รับกันจะมีข้อความบ่งชัดว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงการไฟฟ้าเป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้ฝากรถ ก็ต้องฟังว่านายบุญชัยเป็นเจ้าของแท้จริงตามที่คู่ความรับกัน และห้างหุ้นส่วนจำกัดสหแสงการไฟฟ้ามีชื่อตามเอกสารดังกล่าวแต่ในนามแทนนายบุญชัยเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินไปตามกรมธรรม์แล้วก็ได้รับช่วงสิทธิฟ้องเรียกร้องเอากับจำเลยผู้ต้องรับผิดได้ ทั้งกรณีมิใช่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 ซึ่งเป็นอายุความใช้สิทธิเรียกร้องในความรับผิดเพื่อใช้เงินค่าบำเหน็จค่าใช้จ่าย และค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องฟ้องเรียกร้องให้ชดใช้ราคาทรัพย์ดังเช่นเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share