แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์โดย อ้างว่าจำเลยบุกรุกและเรียกค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 50 บาท ถือได้ ว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ ไม่เกินเดือน ละ 5,000 บาท เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของสามีจำเลยซึ่ง มีที่ดินติดต่อ กับที่ดินของโจทก์ มิได้กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วย กรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดย วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.พ. มาตรา 248 โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดิน น.ส.3ก. เลขที่ 69 เป็นของโจทก์และน้องร่วมกัน จำเลยมีที่ดินอยู่ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่28 ตารางวา ราคาประมาณ 10,000 บาท และทำลายต้นกระถินของโจทก์เสียหาย ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากผลประโยชน์ในที่ดินเป็นเงินเดือนละ 50 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 700 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 50 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่อยู่ทางทิศใต้ของโจทก์เป็นที่ดินของสามีจำเลย ต้นกระถินที่จำเลยตัดฟันมิใช่ของโจทก์ จำเลยมิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 10 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยบุกรุกและเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเงินเดือนละ 50 บาท ถือได้ว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของสามีจำเลยซึ่งมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์มิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์นั้นจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์.