แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยอ้างเหตุแต่เพียงว่า โจทก์เล่นการพนันกับพนักงานในขณะทำงาน คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน หรือดื่มสุราในเวลาทำงานหรือไม่ แม้ทางพิจารณาจำเลยจะได้นำสืบถึงเหตุดังกล่าว ก็เป็นการนำสืบนอกประเด็น
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์อักษรแต่โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง ทำให้การพิสูจน์อักษรในหนังสือฉบับพิเศษของหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจฉบับดีเด่นแห่งปี ประจำปี 2528 ผิดพลาดไป 20 แห่ง เป็นข้อผิดพลาดมาก จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ เป็นการอ้างเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 (5) แต่อุทธรณ์ของจำเลยอ้างเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประกาศ ฯ ดังกล่าวข้อ 47 (2)ซึ่งจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่จัดโฆษณาต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่จัดโฆษณา จัดทำหนังสือฉบับพิเศษหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจฉบับดีเด่นแห่งปี ประจำปี ๒๕๒๘ โดยโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์อักษรในหนังสือดังกล่าว โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง ทำให้มีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับหนังสือฉบับดังกล่าวนี้มาก ซึ่งจำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงบริษัทที่ว่าจ้างจำเลยทำหนังสือฉบับนี้บอกเลิกสัญญากับจำเลย จำเลยเสียหายเป็นเงินจำนวนหลายหมื่นบาท นอกจากนี้โจทก์ยังประพฤติฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานโดยเล่นการพนันกับพนักงานของจำเลยในขณะทำงานในบริเวณบริษัท ซึ่งจำเลยเคยตักเตือนภาคทัณฑ์ไว้ จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นไว้ด้วยว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่และเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ การที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน ๓ วัน และดื่มสุราในเวลาทำงาน ต่างเป็นเหตุเลิกจ้างที่รวมอยู่ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีอำนาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพื่อเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ได้แม้จำเลยจะมิได้ให้การไว้ก็ตามพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานนั้น ตามคำให้การของจำเลยอ้างเหตุแต่เพียงว่า โจทก์เล่นการพนันกับพนักงานในขณะทำงานเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน ๓ วัน และดื่มสุราในเวลาทำงานหรือไม่ แม้ทางพิจารณาจำเลยจะได้นำสืบถึงเหตุดังกล่าวนี้ ก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นทั้งเหตุดังกล่าวก็มิได้รวมอยู่ในประเด็นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ดังอุทธรณ์ของจำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางไม่ยกเหตุดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้จึงเป็นการชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าการพิสูจน์อักษรในเอกสารฉบับพิเศษมีตัวอักษรผิดพลาดประมาณ ๒๐ แห่ง เห็นได้ว่าต้องเกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เจตนาจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวนี้ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์อักษร แต่โจทก์ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง ทำให้มีข้อผิดพลาดมาก จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจึงเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๕) แต่อุทธรณ์ของจำเลยอ้างเหตุว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประกาศ ฯ ดังกล่าว ข้อ ๔๗(๒) ซึ่งอุทธรณ์ในข้อนี้ จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน