คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพียงให้การว่าโจทก์ปิดประกาศข้อความโดยมีเจตนาที่จะให้ อ. ผู้จัดการโรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบว่า อ. เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยานและข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า อ. เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ความว่าได้รับมอบหมายให้กระทำการหรือมีอำนาจหน้าที่อย่างใด บ้างอันจะถือว่าเป็นตัวแทนของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าอ. เป็นตัวแทนของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบและถึงแม้อ. จะเป็นตัวแทนของจำเลย ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับอ. เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยให้การไว้ด้วยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดตามข้อบังคับของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ และศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานในฐานกระทำผิดวินัยเพราะเหตุโจทก์ปิดประกาศข้อความอันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้บังคับบัญชา ซึ่งมิใช่เป็นการปลดโจทก์ในกรณีใดกรณีหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยโบนัส และบำเหน็จให้แก่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย โบนัส บำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันปลดโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอย่างร้ายแรง คือ โจทก์ปิดประกาศข้อความโดยมีเจตนาที่จะให้นายอรุณ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานอันเป็นตัวแทนของจำเลยโดยตรงได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(1) ถึง (3) โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามระเบียบว่าด้วยการทำงานและระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินโบนัส พนักงานที่ออกจากงานเพราะได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงหรือผู้ที่ถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงานโดยมีความผิด ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินโบนัสขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันขออ้างสำนวนคดีระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้ของศาลแพ่งรวมทั้งเอกสารในคดีดังกล่าวเป็นพยานร่วมกันโดยไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์มีลักษณะหมิ่นประมาททำให้นายอรุณ ผู้จัดการโรงงาน ตัวแทนจำเลย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากพนักงาน ทำให้เกิดความระส่ำระสายเกี่ยวกับการปกครอง เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและจำเลยไม่ต้องจ่ายบำเหน็จและโบนัสให้โจทก์ตามระเบียบของจำเลยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเพียงให้การว่าโจทก์ปิดประกาศมีข้อความตามฟ้องโดยมีเจตนาที่จะให้นายอรุณ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานอันเป็นตัวแทนของจำเลยโดยตรงได้รับความเสียหาย จำเลยเป็นผู้กล่าวอ้างว่านายอรุณเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ แต่คดีนี้โจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน เพียงแต่อ้างสำนวนคดีระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้ของศาลแพ่ง รวมทั้งเอกสารทั้งหลายในคดีดังกล่าวเป็นพยานร่วมกันเท่านั้น และข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า นายอรุณเป็นผู้จัดการโรงงานสุราของจำเลย แต่จะได้รับมอบหมายให้กระทำการใด หรือมีอำนาจหน้าที่อย่างใดบ้างอันจะพอถือว่าเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยก็มิได้นำสืบถึง ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายอรุณเป็นตัวแทนของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบและถึงแม้นายอรุณจะเป็นตัวแทนของจำเลย แต่การที่โจทก์ปิดประกาศในทำนองดูหมิ่นนายอรุณเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายอรุณ และมีผลกระทบกระเทือนต่อนายอรุณโดยตรง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้นายจ้าง คือจำเลยเสียหาย เข้าข้อยกเว้นในข้อ 47(2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่อย่างไรก็ดี จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ถึง (3) ดังนี้จึงต้องมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามประกาศดังกล่าวหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ จึงเห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และปัญหาเรื่องค่าชดเชยโบนัส และบำเหน็จต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share