คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005-3006/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมราชทัณฑ์จำเลยจ้างเหมาโจทก์ให้ก่อสร้างตึกโรงพิมพ์แม้จะปรากฏว่าในการก่อสร้างรายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการของกรมโยธาเทศบาลเข้าร่วมเป็นกรรมการอำนวยการสร้าง กรรมการเปิดซองประกวดราคา และกรรมการอื่นอีกหลายคณะ แต่ก็เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชา เพื่อให้งานก่อสร้างของทางราชการดำเนินไปโดยเรียบร้อยหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ข้าราชการกรมโยธาเทศบาลหรือกรมโยธาเทศบาลเป็นตัวแทนของจำเลย หรือเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยไม่การที่คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา โดย ธ. หัวหน้ากองก่อสร้างกรมโยธาเทศบาลขอให้โจทก์ลดเวลาก่อสร้างลง ซึ่งโจทก์ยินยอมโดยขอให้กองก่อสร้างอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างบางอย่างให้นั้น จึงหาใช่เงื่อนไขอันหนึ่งซึ่งเสมือนสัญญาที่จะผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตามไม่
โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ตามสัญญาให้อำนาจจำเลยริบการงานที่ทำไว้แล้วได้รวมทั้งจัดให้ผู้อื่นเข้าทำการงานนั้นต่อไป โดยผู้รับจ้างเหมายอมใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น ดังนั้นบรรดาสัมภาระและวัสดุที่เหลืออยู่ในที่ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการงานที่โจทก์ทำค้างไว้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะริบได้ ส่วนเครื่องผสมคอนกรีตมิใช่การงานที่ได้ทำไว้ แต่เป็นเครื่องใช้หรือเครื่องมือในการประกอบการงานของโจทก์เท่านั้น จำเลยหาอาจริบได้ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จัดให้มีการประกวดราคาก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ของเรือนจำกลางคลองเปรม โจทก์เป็นผู้ประมูลราคาตึกโรงพิมพ์สองหลังได้ในราคาหลังละ ๘๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยหรือตัวแทนจำเลยคือเจ้าหน้าที่กองก่อสร้าง กรมโยธาเทศบาล มีหน้าที่ต้องจัดซื้อเหล็กเส้นขนาด ๑ นิ้ว ๑ นิ้ว ๒ หุน ปูนซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคาและฝ้าเพดานที่ใช้ในการก่อสร้างจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัดมาให้โจทก์ แต่จำเลยทำผิดข้อตกลง จัดหาซื้อเหล็กขนาด ๑ นิ้วและปูนซีเมนต์ส่งให้โจทก์ชักช้า เป็นเหตุให้งานในงวดที่ ๑ และงวดที่ ๒ ช้ากว่ากำหนดเวลาไป ๒ เดือนเศษ และจำเลยไม่สามารถจัดซื้อเหล็ก ๑ นิ้ว ๒ หุนให้โจทก์เพื่อใช้งานในงวดที่ ๓ เพราะบริษัทปูนซิเมนต์ไม่มีจำหน่าย โจทก์ขอต่ออายุสัญญาไปอีก ๑๕๐ วัน จำเลยยอมต่อให้เพียง ๙๐ วัน และตอบให้โจทก์ทราบเมื่อใกล้จะสิ้นระยะเวลาที่ยอมต่อให้นั้น โจทก์ไม่ยินยอมยืนยันขอต่ออายุสัญญา ๑๕๐ วัน จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยได้ละเมิดยึดเอาทรัพย์สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้างของโจทก์เป็นเงิน ๓๐๐,๐๓๖ บาทเอาเป็นของจำเลย การเลิกสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ขาดผลกำไรที่จะได้รับจากการรับเหมาก่อสร้างเป็นเงิน ๓๕๒,๐๐๐ บาท โจทก์ได้รับเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ ๑ ที่ ๒ จากจำเลยเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท แต่งานก่อสร้างของโจทก์แล้วเสร็จไปเกินกว่างานงวดที่ ๒ คิดเป็นเงิน ๗๙๕,๖๙๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์ทั้งสิ้น ๑,๔๔๗,๗๒๖ บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงยินยอมรับเป็นผู้ซื้อวัสดุก่อสร้างให้โจทก์โจทก์ทำงานล่าช้า ทอดทิ้งงานจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่มีทางที่จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา มีอำนาจริบเครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งของของโจทก์ในที่ก่อสร้างได้ตามสัญญา
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงรับเหมาก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ ๒ หลังจากโจทก์ โดยคิดราคาทั้งค่าสิ่งของและค่าจ้างหลังละ ๘๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาของจำเลยที่ ๑ ให้ไว้ต่อโจทก์ ภายในวงเงินไม่เกิน ๘๘,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิเลิกสัญญา ริบเงินประกันตามสัญญา และได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ นำเงิน๘๘,๐๐๐ บาท ตามสัญญาค้ำประกันไปชำระให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่ชำระหลังจากบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ได้ประกวดราคารับจ้างเหมาก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ทั้งสองหลังที่จำเลยที่ ๑ สร้างไม่เสร็จนั้นบริษัทสุนทราภาก่อสร้างเป็นผู้ประมูลได้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก ๕๖๑,๗๓๕ บาท จำเลยที่ ๑ รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ๗๐๐,๐๐๐ บาทแต่ผลงานที่จำเลยทำได้คิดเป็นเงิน ๕๖๒,๐๐๐ บาท โจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ เกินไป ๑๓๘,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ต้องชำระค่าปรับที่ก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาคิดเป็นรายวันวันละ ๑,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๓๐ วัน เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายและค่าปรับที่จำเลยที่ ๑ จะต้องชดใช้ให้โจทก์รวม ๗๒๙,๗๓๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายและค่าปรับพร้อมทั้งดอกเบี้ย ๗๕๒,๗๖๘.๘๒ บาท ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดใช้เงิน ๘๘,๐๐๐ บาท ในยอดเงินที่กล่าวแล้วให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การทำนองเดียวกันคำฟ้องโจทก์สำนวนแรก
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ประพฤติผิดสัญญาอันโจทก์จะมีสิทธิริบเงินประกัน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยที่ ๑
ชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกบริษัทประพันธ์ จำกัดและบริษัทธนาคารแหลมทอง จำกัด เป็นโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับและเรียกกรมราชทัณฑ์เป็นจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑ ชำระเงิน ๕๙๑,๗๓๕ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดจากยอดเงิน ๕๖๑,๗๓๕ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๐๑ และคิดจากยอดเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐ จนถึงวันชำระเสร็จให้จำเลย
บริษัทประพันธ์ จำกัด โจทก์ที่ ๑ อุทธรณ์อย่างคนอนาถาทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้กรมราชทัณฑ์จำเลยใช้เงิน ๖๔๗,๔๘๔.๕๐ บาทแก่บริษัทประพันธ์ จำกัด โจทก์ที่ ๑ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญา (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐) จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ที่ ๑ ได้รับยกเว้นทั้งหมดในการอุทธรณ์อนาถามาชำระต่อศาลในนามโจทก์ที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๘ ให้ยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๘๘/๒๕๐๑ ของศาลชั้นต้นที่กรมราชทัณฑ์เป็นโจทก์เสีย
บริษัทประพันธ์ จำกัด โจทก์ที่ ๑ ฎีกาเฉพาะสำนวนแรก
กรมราชทัณฑ์จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ทำผิดสัญญา หากแต่โจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะปรากฏว่าในการก่อสร้างรายนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการของกรมโยธาเทศบาลเข้าร่วมเป็นกรรมการอำนวยการสร้าง กรรมการควบคุมและตรวจการสร้าง กรรมการรับของประกวดราคา และกรรมการเปิดซองประกวดราคาด้วย แต่ก็เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชา เพื่อให้งานก่อสร้างของทางราชการดำเนินไปโดยเรียบร้อย หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ข้าราชการกรมโยธาเทศบาล หรือกรมโยธาเทศบาลเป็นตัวแทนของจำเลย หรือเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยไม่ การที่คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา โดยนายเธียร ภัทรจันทร์หัวหน้ากองก่อสร้าง ขอให้โจทก์ที่ ๑ ลดเวลาก่อสร้างลงให้เหลือเพียง ๒๑๐ วันโจทก์ที่ ๑ ยินยอมนั้น ก็น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ ๑ สมัครใจยอมลดเวลาให้เองโดยหวังที่จะได้ทำการก่อสร้างรายนี้ ตามบันทึกของโจทก์ที่ ๑ ที่ขอให้กองก่อสร้างอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างบางอย่างเมื่อวันที่ ๑๗พฤษภาคม ๒๔๙๙ นั้น มีข้อความเป็นเรื่องขอให้กองก่อสร้างอำนวยความสะดวกให้ทั้งเมื่อจำเลยกับโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมากัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๙ ก็หาได้กำหนดหน้าที่จัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างดังกล่าวแล้วให้เป็นหน้าที่ของจำเลยหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายจำเลยจัดหาให้ไม่ กลับปรากฏตามสัญญาจ้างเหมาข้อ ๑ ว่า “ผู้รับจ้างเหมาสัญญาว่าจักจัดหาสิ่งของที่ดี ฯ เพื่อประกอบการก่อสร้าง ฯ” จึงเห็นได้ชัดว่า โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาสัมภาระในการก่อสร้างโดยทางกองก่อสร้างกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดซื้อเท่านั้น บันทึกของโจทก์ที่ ๑ ที่ขอให้กองก่อสร้างอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัสดุดังกล่าวแล้ว จึงหาใช่เงื่อนไขอันหนึ่งซึ่งเสมือนสัญญาที่จะผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตามดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ส่วนปัญหาที่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญานั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๑ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาโจทก์ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาใช่จำเลยไม่ เมื่อโจทก์ที่ ๑ ทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา จำเลยก็มีสิทธิเลิกสัญญาได้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๒ มิพักต้องตักเตือนถึง ๓ ครั้งตามสัญญาข้อ ๖
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยจะมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ที่ ๑ จ่ายค่าปรับเป็นรายวันวันละ ๑,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๓๐ วันตามสัญญาข้อ ๒ ได้หรือไม่เห็นว่าตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ ๒ ระบุว่าหากผู้รับจ้างเหมาทำงานจ้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเหมาปรับเป็นรายวัน วันละ๑,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๓๐ วัน เมื่อครบกำหนด ๓๐ วันแล้ว ผู้รับจ้างเหมายังทำไม่แล้วเสร็จผู้ว่าจ้างเหมามีสิทธิเลิกสัญญานี้ได้ทันที ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากครบกำหนดที่จำเลยต่ออายุสัญญาให้แล้ว โจทก์ที่ ๑ก็ยังทำงานไม่แล้วเสร็จ เลยเวลา ๓๐ วัน จำเลยจึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ที่ ๑ ชำระค่าปรับวันละ ๑,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๓๐ วันตามสัญญา
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยได้เพียงใดนั้น ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ ๒ ระบุว่า ถ้าผู้รับจ้างเหมาทำงานไม่แล้วเสร็จผู้ว่าจ้างเหมามีสิทธิเลิกสัญญาได้ทันที และจัดให้ผู้อื่นเข้าทำการต่อไปโดยผู้รับจ้างเหมายอมใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น และข้อ ๖ ระบุว่า ถ้าผู้รับจ้างทำผิดสัญญาซึ่งผู้ว่าจ้างเหมาเห็นว่าไม่มีหวังที่จะทำการให้แล้วเสร็จได้ในกำหนดเวลา ผู้ว่าจ้างเหมามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ผู้รับจ้างเหมาและริบเงินประกันพร้อมทั้งการงานที่ทำไว้แล้วได้ แล้วจัดให้ผู้อื่นเข้าทำการงานต่อไปโดยผู้รับจ้างเหมายอมใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น
ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างซึ่งเป็นผลงานงวดที่ ๑ และที่ ๒ ให้โจทก์ที่ ๑ รับไปแล้วเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนงานงวดที่ ๓ ยังไม่แล้วเสร็จและเมื่อบอกเลิกสัญญากันแล้วจำเลยได้ว่าจ้างบริษัทสุนทราภาก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการก่อสร้างใช้สัมภาระและวัสดุที่ริบจากโจทก์ที่ ๑ ได้ทั้งหมด เป็นเงินค่าก่อสร้าง ๑,๖๒๑,๗๓๕ บาท โจทก์ที่ ๑รับเหมาก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ดังกล่าวในราคา ๑,๗๖๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ รับเงินไปแล้ว ๗๐๐,๐๐๐ บาท คงเหลือเงินอยู่ ๑,๐๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยต้องจ่ายเงินให้บริษัทสุนทราภาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก ๕๖๑,๗๓๕ บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๑ ต้องรับชดใช้ให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าวแล้ว
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยจะมีสิทธิริบสัมภาระและวัสดุในที่ก่อสร้างของโจทก์ที่ ๑ ที่เหลืออยู่ในที่ก่อสร้างหรือไม่นั้น เห็นว่าตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๖ ให้อำนาจจำเลยผู้ว่าจ้างริบการงานที่ทำไว้แล้วได้รวมทั้งจัดให้ผู้อื่นเข้าทำการงานนั้นต่อไป โดยผู้รับจ้างเหมายอมใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น ศาลฎีกาเห็นว่าบรรดาสัมภาระและวัสดุที่เหลืออยู่ในที่ก่อสร้าง เว้นแต่เครื่องผสมคอนกรีตเป็นส่วนหนึ่งของการงานที่โจทก์ที่ ๑ ทำค้างไว้จำเลยจึงมีสิทธิที่จะริบสัมภาระและวัสดุก่อสร้างเหล่านั้นได้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๖ ดังกล่าวแล้วส่วนเครื่องผสมคอนกรีต ๒ เครื่องนั้น มิใช่การงานที่ได้ทำไว้ แต่เป็นเครื่องใช้หรือเครื่องมือในการประกอบการงานของโจทก์ที่ ๑ เท่านั้น จำเลยจึงริบไม่ได้แต่จำเลยได้ริบไปแล้ว จึงต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ และจำเลยยังโต้เถียงราคาเครื่องผสมคอนกรีตนี้อยู่ศาลเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายข้อนี้ให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคิดหักจากค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๑ จะต้องใช้ให้จำเลยเป็นเงิน ๕๖๑,๗๓๕ บาทแล้ว คงเหลือเป็นยอดเงิน ๕๔๑,๗๓๕ บาท รวมกับค่าปรับวันละ ๑,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๓๐ วัน๓๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาเป็นเงิน ๕๗๑,๗๓๕ บาท
คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ ๑ อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อที่ให้โจทก์ที่ ๑ ชำระเงินให้จำเลย ๕๙๑,๗๓๕ บาทนั้น เป็นให้โจทก์ที่ ๑ชำระเงิน ๕๗๑,๗๓๕ บาทให้จำเลย และดอกเบี้ยที่ให้คิดจากยอดเงิน ๕๖๑,๗๓๕ บาทนั้น เป็นให้คิดจากยอดเงิน ๕๔๑,๗๓๕ บาทและให้คืนเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่กรมราชทัณฑ์จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามบริษัทประพันธ์ จำกัด โจทก์ที่ ๑ ในการที่ได้รับยกเว้นในการอุทธรณ์อย่างคนอนาถาแก่กรมราชทัณฑ์จำเลย

Share