คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นคำให้การ ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง แต่การจะสมควรจำหน่ายหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาอีกชั้นหนึ่งตามมาตรา 132(2)
โจทก์ได้จัดการนำหมายเรียกสำเนาฟ้องเพื่อส่งให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตอำนาจศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตมีหนังสือแจ้งมาว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นที่รับฟ้องมีคำสั่งว่า รอฟ้องโจทก์แถลง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบหนังสือรายงานผลการสังหมายและคำสั่งศาลในหนังสือฉบับนั้นเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่า โจทก์เพิกเฉยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดชนกับรถของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งขับรถโดยละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๓ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
โจทก์นำส่งสำเนาฟ้องและหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลยที่ ๑ รับไว้ ณ เรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๔ และขอให้ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องไปยังศาลจังหวัดบุรีรัมย์ให้ช่วยจัดส่งแก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๔ ตอบมายังศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ว่า ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ว่า รอฟังโจทก์แถลง
ครั้นวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๔ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่า โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่า จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การตามกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๘ และโจทก์ไม่แถลงว่าจะจัดการกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปภายใน ๕ วัน ซึ่งโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลแล้ว ถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อการนั้นอันเป็นการทิ้งฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามรูปคดี
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์จัดการนำหมายเรียกสำเนาฟ้องเพื่อส่งให้จำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในหนังสือของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ว่ารอฟังโจทก์แถลง คดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบหนังสือรายงานผลการส่งหมายของศาลจังหวัดบุรีรัมย์และคำสั่งศาลชั้นต้นในหนังสือฉบับนั้นเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนด อันจะถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔(๒) ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับหมายเรียกสำเนาฟ้องตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๔ และมิได้ยื่นคำให้การภายในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นวันครบกำหนด ๑๕ วัน นับแต่ครบกำหนดยื่นคำให้การของจำเลยที่ ๑ ก็เพราะคดียังมีปัญหาพัวพันที่จะต้องรอฟังคำให้การของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่อีก คดียังไม่มีเหตุสมควรจะรีบด่วนจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ จริงอยู่ เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นคำให้การ ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง แต่การจะสมควรจำหน่ายหรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาอีกชั้นหนึ่งตาม มารตรา ๑๓๒(๒) โดยเฉพาะ คดีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำให้การของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ และจำเลยที่ ๑ ก็ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ ขออนุญาตยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรประการใดที่จะจำหน่ายคดีของโจทก์
พิพากษายืน.

Share