แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นคนต่างด้าว ไม่มีทางที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพเร่*ขายสินค้าได้เลย ตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521ประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ. 2522 แต่จำเลยได้เร่*ขายแผ่นพลาสติกไปตามถนนสาธารณะการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพราะฝ่าฝืนกฎหมายที่กำหนดไว้ในตัว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดเพราะไม่ได้รับอนุญาตแผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะของกลาง ที่จำเลยมีไว้ใช้ในการกระทำผิดจึงเป็นของควรริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติอินเดียสัญชาติอินเดียเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว ได้ประกอบอาชีพเร่ขายสินค้าซึ่งเป็นงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่แห่งราชอาณาจักรโดยจำเลยได้เร่ขายแผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะไปตามถนนมหาราชแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นถนนสาธารณะอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยแผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะจำนวน 4 แผ่น เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 6, 33พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 11พฤษภาคม 2522 ข้อ 35 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 6, 33 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,500 บาทโทษจำคุกรอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอให้มีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางและสั่งให้ริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนแผ่นพลาสติกสำหรับปูโต๊ะจำนวน 4 แผ่นของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาให้ริบของกลาง โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2521 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 บัญญัติให้งานเร่ขายสินค้าเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเป็นการค้า หรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่มีทางที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพเร่ขายสินค้าได้เลย เพราะทางการสงวนให้เป็นอาชีพเฉพาะคนไทยเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนกฎหมายที่กำหนดไว้ในตัว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดเพราะไม่ได้รับอนุญาต ของกลางคดีนี้จึงเป็นของที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.