คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3000/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าจ้างเนื่องจากการที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีมิใช่เงินที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนแน่นอนเมื่อมีการเลิกจ้าง แต่เป็นเงินที่กฎหมายยอมให้ลูกจ้างเรียกร้องจากนายจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนตามวันที่นายจ้างกำหนดให้ หรือยังหยุดพักผ่อนไม่ครบ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างเนื่องจากการที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยบรรยายฟ้องเพียงว่า ‘4.4 ค่าจ้างเนื่องจากการที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 70 วัน เป็นเงิน 54,117 บาท’มิได้บรรยายมาให้เห็นว่าวันหยุดประจำปี 70 วัน เป็นวันหยุดพักผ่อนสำหรับปีใดบ้าง ในแต่ละปีมีจำนวนกี่วันจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ตกลงกับโจทก์ล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปได้ เพื่อให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ว่าจำนวนวันที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีตรงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกตั๋วและสำรองที่นั่ง เงินเดือนเดือนละ 22,293 บาทค่าพาหนะเดือนละ 900 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 23,193 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน2,894,486.40 บาท ค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำนวน 10,050.30บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,789.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งโจทก์ไม่ได้ใช้จำนวน 70 วัน เป็นเงิน 54,117 บาท เงินโบนัสประจำปี 2530 ตามส่วนเป็นเงิน 5,573 บาท รวมเป็นเงิน 3,138,174.20 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน และชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงและได้ละเลยเพิกเฉยไม่นำพาต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเงินค่าจ้างเนื่องจากที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 70 วัน เป็นเงิน 54,117 บาท เคลือบคลุมเพราะมิได้อธิบายว่าโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่เมื่อใด ปีละเป็นจำนวนกี่วัน และจำนวนที่โจทก์ขอมามีหลักเกณฑ์ในการคำนวณอย่างไร โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเนื่องจากมิได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ปีที่มีสิทธิ ฟ้องโจทก์ในส่วนเรียกค่าจ้างดังกล่าวจึงขาดอายุความ
ก่อนถึงวันนัดพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
วันนัดพิจารณาจำเลยชำระเงินค่าจ้างประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2530จำนวน 10,050.30 บาท แก่โจทก์และโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 10,050.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้า ทุกระยะ 7 วัน ตามฟ้องอีกต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการเรียกค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าจ้างดังกล่าวให้โจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ 162,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 139,158บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 34,789.50 บาท และเงินโบนัสจำนวน 5,573 บาท แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 341,520.50 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานหรือใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่1 มานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘โจทก์อุทธรณ์ประการเดียวว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว กล่าวคือคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า ‘เงินค่าจ้างเนื่องจากการที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 70 วัน เป็นเงิน 54,117 บาท ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องแล้วจะสามารถเข้าใจได้โดยทันทีว่าโจทก์เรียกร้องอะไรจากจำเลย เป็นเงินเท่าไร และเรียกร้องเพราะอะไรจำเลยสามารถเข้าใจในข้อเรียกร้องและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง จึงไม่เคลือบคลุม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าค่าจ้างเนื่องจากการที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นมิใช่เงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนแน่นอนเมื่อมีการเลิกจ้าง หากแต่เป็นเงินที่กฎหมายยอมให้ลูกจ้างเรียกร้องจากนายจ้างได้ในกรณีที่ลูกจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนตามวันที่นายจ้างกำหนดให้ หรือยังหยุดพักผ่อนไม่ครบ และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน ทั้งนี้ต้องให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดให้ล่วงหน้าและนายจ้าง ลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้เช่นนี้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างเนื่องจากการที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวนถึง 70 วัน โจทก์ชอบที่จะบรรยายมาให้เห็นว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนสำหรับปีใดบ้าง ในแต่ละปีมีจำนวนกี่วัน ทั้งต้องบรรยายให้เห็นว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ตกลงกับโจทก์ล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปได้ เพื่อให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ว่าจำนวนวันที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีตรงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายกรณีเรื่องนี้เพียงสั้น ๆ ว่า ‘4.4 ค่าจ้างเนื่องจากการที่โจทก์ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 70 วันเป็นเงิน 54,117 บาท’ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้เคลือบคลุมนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ’
พิพากษายืน.

Share