คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านที่เช่าจากโจทก์ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าทำสัญญาเช่าแทนบิดาจำเลย การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยทำสัญญาเช่าแทนบิดาจำเลย ย่อมนอกประเด็นข้อต่อสู้ ไม่ชอบที่ศาลจะรับฟัง
จำเลยทำสัญญาเช่าในนามตนเองเป็นผู้เช่า จำเลยจะนำสืบ(พยานบุคคล) ว่าทำสัญญาเช่าแทนคนอื่นหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
ทำสัญญาเช่าบ้านภายหลังพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504ใช้บังคับ แม้เป็นการเช่าอยู่อาศัย ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2508 จำเลยทำสัญญาเช่าบ้าน(โกดัง) ของโจทก์ มีกำหนด 1 ปี ใช้เก็บของในกิจการค้า ครบกำหนดเช่าต่อมาโดยไม่มีสัญญาเช่า โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่า เช่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ความจริงเช่ามานานตั้งแต่ครั้งบิดาโจทก์ยังอยู่ เพิ่งเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลยเป็นผู้เช่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2508 จำเลยได้รับความคุ้มครอง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาเช่าแทนบิดาจำเลย และบ้านพิพาทเป็นเคหะควบคุม จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินฯ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลย และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยให้การสู้คดีว่า “ความจริงบ้านหลังนี้ได้เช่าโจทก์มานานตั้งแต่ครั้งบิดาของโจทก์ยังอยู่ เพิ่งเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลยเป็นผู้เช่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2508” ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่จะแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่าจำเลยสู้คดีว่าจำเลยทำสัญญาเช่าแทนบิดาจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาเช่าหมาย จ.19 หรือ ล.5 แทนบิดาจำเลย จึงนอกประเด็นข้อต่อสู้ไม่ชอบที่ศาลจะรับฟัง นอกจากนั้นตามสัญญาเช่าหมาย จ.19 หรือ ล.5 ปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาเช่าในนามตนเองเป็นผู้เช่า จำเลยจะนำสืบว่าทำสัญญาเช่าแทนคนอื่นไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) เมื่อจำเลยรับว่าทำสัญญาเช่ากับโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2508 อันเป็นเวลาหลังพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 ใช้บังคับแม้เป็นการเช่าอยู่อาศัย ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

ส่วนค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เหมาะสมแล้ว

พิพากษายืน

Share