คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องที่มิได้ลงชื่อโจทก์นั้นเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)
ศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องที่ไม่ถูกต้องไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปแล้ว คงเหลือแต่พนักงานสอบสวนอีกปากเดียว ความจึงปรากฏจากคำร้องของจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในฟ้องดังนี้จึงมีวิธีที่ศาลจะปฏิบัติตามมาตรา 161 ได้อีกทางเดียวคือให้ยกฟ้องเสีย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/92)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เหลืออีก 1 ปาก จำเลยยื่นคำร้องว่า คำฟ้องมิได้มีลายมือชื่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลสั่งตัดพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้นในทันใดนั้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องว่า คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์เนื่องจากความพลั้งเผลอขอให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง โดยลงชื่อโจทก์ในฟ้องถ้าไม่อนุญาต ก็ขอให้สั่งคืนฟ้องเพื่อทำมายื่นใหม่ ศาลสั่งไม่อนุญาตแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ฟ้องที่มิได้ลงชื่อโจทก์นั้นเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง เรื่องนี้การที่จะกลับสั่งไม่ประทับฟ้องหรือให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้ลงชื่อในฟ้องให้ถูกต้องเป็นการล่วงเลยที่ควรปฏิบัติได้เสียแล้ว เพราะศาลได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปแล้วคงเหลือแต่พนักงานสอบสวนอีกปากเดียว ดังนี้ มีวิธีที่ศาลจะปฏิบัติตามมาตรา 161 ได้อีกทางเดียว คือให้ยกฟ้องเสีย

พิพากษายืน

Share