แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ป่วยด้วยโรคไต ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้ทนายโจทก์ไม่อาจมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ดังกล่าวได้ ส่วนที่ทนายโจทก์อ้างอีกว่า หากโจทก์ต้องการจะยื่นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการคาดคะเนของทนายโจทก์ทั้งสิ้น จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยเช่นกัน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์สองครั้ง โดยศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2551
ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคไต อาการหนัก ยังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ได้ ทนายโจทก์จึงได้เตรียมยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาไว้ แต่โจทก์ยังไม่สามารถมาสาบานตนได้ ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และขยายระยะเวลายื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สองที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ การที่โจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เท่านั้น ที่ทนายโจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย นั้น ก็ปรากฏว่าทนายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์ป่วยด้วยโรคไตต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ดังจะเห็นได้จากคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สอง ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2551 เหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้ทนายโจทก์ไม่อาจมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งที่สองได้ จึงไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ดังกล่าวได้ ส่วนที่ทนายโจทก์ฎีกาอ้างอีกว่า หากโจทก์ต้องการจะยื่นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการคาดคะเนของทนายโจทก์ทั้งสิ้น ทนายโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่า เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยอีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างอื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ