คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างประสบปัญหาด้านการตลาดโดยไม่มีลูกค้าสั่งสินค้าแผนกที่ลูกจ้างทำอยู่ จึงมีคำสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานแผนกอื่น ซึ่งลูกจ้างสามารถทำได้ ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง ลูกจ้างไม่ยอมย้าย นายจ้างเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรหลายครั้งก็ไม่ปฏิบัติตาม ฉะนั้นเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในแผนกกลึงเกลียว จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปอยู่แผนกเทน้ำเหล็ก โดยอ้างว่าแผนกกลึงเกลียวไม่มีงานตามปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์มิได้ขัดขืนเพียงขอย้ายไปทำงานแผนกอื่น เพราะโจทก์ประสบอุบัติเหตุไม่สามารถยกวัตถุที่มีน้ำหนักมากได้ ซึ่งจำเลยก็ทราบดี แต่จำเลยกลับมีหนังสือกล่าวหาว่า โจทก์ขัดขืนไม่ยอมย้ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นการเลิกจ้าง โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประสบปัญหาด้านตลาดอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีลูกค้าสั่งสินค้าชนิดที่โจทก์ทำงาน โจทก์และคนงานในแผนกกลึงเกลียวจึงไม่มีงานทำในอัตราสม่ำเสมอ จำเลยจำเป็นต้องย้ายโจทก์ไปทำงานแผนกเทน้ำเหล็ก โจทก์ไม่ยอมย้าย จำเลยมีหนังสือตักเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีคำสั่งพักงาน พ้นกำหนดพักงานแล้วโจทก์ก็ยังเพิกเฉยต่อคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า ถ้าแผนกใดไม่มีงานทำ หรือเครื่องจักรแผนกเสีย ผู้บังคับบัญชาจะจัดให้พนักงานไปทำงานอย่างอื่นแทน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ปรากฏว่าจำเลยประสบปัญหาด้านตลาด ไม่มีลูกค้าสั่งสินค้าที่แผนกกลึงเกลียวเป็นผู้ผลิตมานานแล้ว จำเลยจึงมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานแผนกเทน้ำเหล็ก ซึ่งยังมีงานทำอยู่ และโจทก์สามารถทำงานในหน้าที่นี้ได้ แต่โจทก์ไม่ยอมย้าย จำเลยเตือนโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรหลายครั้ง โจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติตาม พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยสั่งย้ายโจทก์ตามอำนาจของจำเลยในฐานะนายจ้างตามข้อตกลงในสัญญา ระเบียบข้อบังคับการทำงาน และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์สามารถปฏิบัติตามได้แต่โจทก์ก็พยายามฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว แม้จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์โดยตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษรก่อน โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติตาม การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจท์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share