คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2846/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร เป็นผู้ลักลอบนำพาเลื่อยยนต์ ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดผลิตในต่างประเทศซึ่งยังมิได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเรียกค่าภาษีอากรขาเข้า หรือมิฉะนั้น จำเลยได้ซื้อรับจำนำ รับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์ และช่วยพาเอาไปเสียช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้น ซึ่งของดังกล่าวโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำพาหนี้ศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวเป็นคนละความผิดกันจะลงโทษจำเลยในทั้งสองข้อหาดังกล่าวย่อมไม่ได้ เมื่อจำเลยให้การว่า “ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ” ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยกระทำต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 11, 47, 48, 69, 73, 69, 73, 74 ทวิ, 74 จัตวาพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 6, 7, 8,9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบของกลาง กับจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74,74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ฐานมีไม้หวงห้ามยังไม่แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ จำคุก 1 ปีปรับ 30,000 บาท ฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่รู้ว่านำเข้าในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าแล้ว เป็นปรับ 38,956 บาท รวมเป็นจำคุก 4 ปีและปรับ 158,956 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก2 ปี และปรับ 79,478 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30เนื่องจากศาลพิพากษาให้ปรับเกินสี่หมืนบาท ให้กักขังจำเลยได้ไม่เกิน2 ปี ของกลางริบ และจ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานตามกฎหมายยกเว้นข้อหาทำไม้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำไม้เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามยังไม่แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้จำคุก 1 ปี ฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร จำคุก 1 ปี โดยความผิดทั้งสี่ฐานนี้ไม่ปรับจำเลย ฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่รู้ว่านำเข้าในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าแล้วเป็นปรับ 38,956 บาท รวมจำคุก 4 ปีปรับ 38,956 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเป็นบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีปรับ 19,478 บาท ไม่รอการลงโทษให้จำเลย ไม่จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเพราะศาลมิได้ปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ลักลอบนำพาเลื่อยยนต์ จำนวน 1 เครื่องราคา 7,000 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดผลิตในต่างประเทศซึ่งยังมิได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเรียกค่าภาษีอากรขาเข้า หรือมิฉะนั้น จำเลยได้ซื้อ รับจำนำรับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์และช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้นซึ่งของดังกล่าวโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำพาหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวเป็นคนละความผิดกันจะลงโทษจำเลยทั้งสองข้อหาดังกล่าวย่อมไม่ได้เมื่อจำเลยให้การว่า”ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ” ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฐานรับไว้โดยประการใด ซึ่งของที่รู้ว่านำเข้าในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share