คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวอ้างว่าการประกาศขายทอดตลาดหุ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้งให้ผู้พบเห็นทราบว่าบริษัทผู้ออกหุ้นมีหุ้นอยู่ทั้งหมดเท่าใด มีสินทรัพย์และหนี้สินเท่าใด ผู้ที่ประมูลซื้อคงมีเฉพาะผู้ที่ทราบสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเท่านั้นการขายทอดตลาดย่อมต้องมีการสมยอมกัน เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำสืบให้เห็นดังที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนหุ้นและมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นของบริษัทจำกัดย่อมปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและหนังสือบริคณห์สนธิที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะ ทางการเงินของบริษัทจำกัดคือสินทรัพย์และหนี้สิน ย่อมปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลซึ่งได้ส่งไว้ต่อนายทะเบียนเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เอกสารเหล่านี้บุคคลทั่วไปตลอดจนผู้จะเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดหุ้นสามารถตรวจสอบก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดได้อยู่แล้ว แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวในประกาศขายทอดตลาด ก็ไม่เป็นเหตุให้การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยจำนวน 840,000 หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์อินดัสตรี จำกัด เป็นเงิน 7,700,000 บาท(ที่ถูก 7,500,000 บาท)
จำเลยยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า การประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้งให้ผู้พบเห็นประกาศทราบว่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์อินดัสตรี จำกัดมีจำนวนเท่าใด บริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินเท่าใด ผู้ที่จะประมูลซื้อจึงมีเฉพาะบุคคลบางคนที่ทราบสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น การขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวย่อมจะต้องมีการสมยอมกัน ทำให้ไม่อาจที่จะขายหุ้นได้ในราคาที่เป็นธรรมเป็นเหตุให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ในคดีนี้ได้รับความเสียหายการขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวไม่ชอบขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำบัญชีสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์อินดัสตรี จำกัด แจ้งในใบประกาศขายทอดตลาดแล้วม่คำสั่งให้มีการขายทอดตลาดใหม่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยซึ่งออกโดยบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์อินดัสตรี จำกัด ตั้งแต่หุ้นหมายเลข0360001 ถึง 1200000 จำนวน 840,000 หุ้น ไปเมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2531 โดยใบประกาศขายทอดตลาดได้ระบุวันเวลาและสถานที่ขายชื่อเจ้าของหุ้น ชื่อบริษัทผู้ออกหุ้น หมายเลขหุ้น จำนวนหุ้นที่จะขายตามเอกสารหมาย ค.10 แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหุ้นทั้งหมดสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทผู้ออกหุ้น มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยใบประกาศขายทอดตลาดมิได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหุ้นทั้งหมด สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทผู้ออกหุ้นเป็นการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าในการประกาศขายทอดตลาดหุ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้งให้ผู้พบเห็นทราบว่า บริษัทผู้ออกหุ้นมีหุ้นอยู่ทั้งหมดจำนวนเท่าใด มีสินทรัพย์และจำนวนหนี้สินเท่าใดเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่าได้มีระเบียบหรือข้อบังคับว่าในการประกาศขายทอดตลาดหุ้นซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทผู้ออกหุ้นในประกาศด้วยมิฉะนั้นจะมีผลทำให้การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยไม่นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ที่ประมูลซื้อคงมีเฉพาะผู้ที่ทราบสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเท่านั้น การขายทอดตลาดย่อมต้องมีการสมยอมกันทำให้ราคาหุ้นที่ขายได้ไม่เป็นธรรมนั้น จำเลยก็ไม่ได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่ามีการสมยอมกันในระหว่างผู้เข้าสู้ราคาและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตอย่างไร และเห็นว่ารายละเอียดเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นอันได้แก่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนหุ้นและมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นของบริษัทจำกัด ย่อมปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและหนังสือบริคณห์สนธิที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทจำกัด คือ สินทรัพย์และหนี้สินย่อมปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลซึ่งได้ส่งไว้ต่อนายทะเบียนเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เอกสารเหล่านี้บุคคลทั่วไปตลอดจนผู้ประสงค์จะเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดหุ้นสามารถตรวจสอบก่อนที่จะมีการขายทอดตลาด เพื่อเป็นข้อมูลช่วยการตัดสินใจในการเข้าสู้ราคาได้อยู่แล้วแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวในประกาศขายทอดตลาดก็หาเป็นเหตุให้เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่…”
พิพากษายืน.

Share