คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 362 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 1, 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 มาตรา 11 และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากลำเหมืองสาธารณะบ้านขรัวแคร่ จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 362 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากลำเหมืองสาธารณะบ้านขรัวแคร่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงด้วยว่า จำเลยปลูกสร้างรุกล้ำเหมืองน้ำสาธารณะในปี 2552 มิใช่เหตุเกิดในปี 2542 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย จึงเห็นควรวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่า จำเลยปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเหมืองน้ำที่เกิดเหตุเมื่อใด ในปัญหาข้อนี้จำเลยนำสืบว่า จำเลยซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก จากนางอ่อน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ต่อมาปี 2542 จำเลยเข้าไปปลูกบ้าน ปรากฏว่าที่ดินด้านทิศตะวันออกมีการขุดดินจากทิศใต้ไปทิศเหนือขนานไปกับลำเหมืองสาธารณะเดิม จำเลยจึงวางท่อตามแนวที่ขุด 3 ท่อ ส่วนที่เหลือเป็นบล็อกซีเมนต์เพื่อให้น้ำไหลสะดวกหลังจากนั้นก็ปลูกบ้านไปจดลำเหมืองด้านทิศตะวันออก ส่วนพยานโจทก์มี นางแสงจันทร์ นางจันทร์ฟอง และนางเพ็ญศรี ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากลำเหมืองดังกล่าว เพื่อทำนาเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ปี 2552 จำเลยสร้างรั้วไม้ไผ่ปิดลำเหมือง ต่อมาปี 2556 จำเลยปลูกห้องน้ำและห้องนอนปิดลำเหมือง เห็นว่า การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณที่เกิดเหตุย่อมอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยยืนยันว่าได้ปลูกบ้านไปจดลำเหมืองด้านทิศตะวันออกในปี 2542 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 มาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 แล 108 ทวิ วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและจำเลยได้ฎีกาโต้แย้งด้วยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดในทำนองเดียวกับอุทธรณ์ของจำเลย เพื่อให้การพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วจึงเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาและพิพากษาใหม่ จำเลยอุทธรณ์และฎีกาในทำนองเดียวกันว่า ลำเหมืองที่จำเลยครอบครองเป็นลำเหมืองที่ขุดเพิ่มเติม ไม่ใช่ลำเหมืองสาธารณะ เห็นว่า รูปที่ดินในระวางแผนที่ดังกล่าวปรากฏชัดว่า ที่ดินที่จำเลยครอบครองในกรอบสี่เหลี่ยมเส้นสีเขียวอยู่นอกโฉนดที่ดิน รุกล้ำเข้าไปในลำเหมืองสาธารณประโยชน์ ทั้งจำเลยก็นำสืบยอมรับว่าก่อนปลูกสร้างบ้านจำเลยได้วางท่อ 3 ท่อ และบล็อกซีเมนต์บริเวณที่ดินด้านทิศตะวันออกที่มีการขุดดินจากทิศใต้ไปทิศเหนือขนานไปกับลำเหมืองสาธารณะเดิมเพื่อให้น้ำไหลสะดวก หลังจากนั้นก็ปลูกบ้านไปจดลำเหมืองด้านทิศตะวันออก แสดงว่าจำเลยปลูกบ้านคร่อมทางน้ำที่ไหลผ่านท่อ 3 ท่อ และบล็อกซีเมนต์ โดยสภาพที่ดินที่มีทางให้น้ำไหลผ่านท่อ 3 ท่อ และบล็อกซีเมนต์ ย่อมเป็นทางน้ำที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่ นางแสงจันทร์ นางจันทร์ฟอง และนางเพ็ญศรี เบิกความว่าพยานต่างใช้น้ำจากลำเหมืองดังกล่าวเพื่อทำนา ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านคร่อมทางน้ำจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่จำเลยอ้างว่าเป็นลำเหมืองที่ขุดขึ้นใหม่ขนานกับลำเหมืองเดิมในทำนองว่าไม่ใช่ที่สาธารณะนั้นเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ลำเหมืองที่จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมนั้นเป็นลำเหมืองสาธารณะ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองตามกรอบสี่เหลี่ยมเส้นสีเขียวในระวางแผนที่นั้นปรากฏชัดว่า อยู่นอกแนวเขตโฉนดที่ดินของจำเลย ทั้งการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุจำเลยยังได้วางท่อเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านที่ดินได้ จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ให้จำเลยทราบว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นลำเหมืองน้ำสาธารณะ ไม่ใช่ที่ดินของจำเลย คดีฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนายึดถือ ครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง กำหนดเงื่อนไขให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกำหนด 48 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร และเพื่อป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดอีกจึงกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดที่เป็นการรุกล้ำเหมืองน้ำสาธารณะอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง (1) (8) และ (10) ที่แก้ไขใหม่ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ที่แก้ไขใหม่ และให้จำเลย ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากลำเหมืองสาธารณะบ้านขรัวแคร่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share