คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯและฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารฯและการกระทำของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯมาตรา 42 วรรคหนึ่ง มิใช่มีอำนาจเพียงสั่งให้จำเลยยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามมาตรา 43 เท่านั้น แม้ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ มาตรา 40 วรรคสอง จะได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยมิชักช้าและต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารก็ตาม แต่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทที่ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทที่ต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงให้ถูกต้องนั้นหมดไปโจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาทเมื่อโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ทำการรื้อถอนอาคารพิพาทแล้วย่อมถือได้ว่าได้มีคำสั่งแจ้งให้เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาททราบโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของร่วมทุกคนทราบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาต ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ทั้งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปออกให้หมด ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นเดียวว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทเลขที่ 130/6 ตรอกเนาวรัตน์ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาทซึ่งเดิมเป็นอาคาร 3 ชั้น ให้เป็นอาคาร5 ชั้น มีดาดฟ้าโดยมิได้รับอนุญาตจากทางราชการ โจทก์ได้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่า การก่อสร้างดัดแปลงอาคารของจำเลยส่วนใดที่ยื่นออกมาหรือเหนือที่ดินสาธารณะและยื่นออกมาหรือเหนือที่ดินสาธารณะอย่างไร สามารถแก้ไขหรือดัดแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 69การกระทำของจำเลยเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 หรือมาตรา 43 กันแน่ และจำเลยก่อสร้างขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นข้อใด อย่างใดและแก้ไขไม่ได้อย่างไร และกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยได้ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีในเรื่องนี้ไว้แต่เพียงว่า คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายให้แน่นอนว่าให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนใด หากจะให้รื้อทั้งหมดก็ไม่ถูกต้องเพราะอาคาร 3 ชั้นเป็นอาคารเดิม ถ้าจะให้รื้อถอนก็ควรให้รื้อตั้งแต่ชั้น 4 ขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงนอกเหนือไปจากคำให้การต่อสู้ของจำเลย เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น และกรณีมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคาร คงมีแต่อำนาจสั่งให้จำเลยยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 เท่านั้นและจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนายอำนาจ สุวรรณรังษีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการปลูกสร้างต่อเติมอาคารมาเบิกความยืนยันว่า ได้ไปทำการตรวจสอบอาคารพิพาท พบว่ากำลังมีการก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาท ได้สอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ยอมรับว่าเป็นผู้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทจริง นายอำเภอจึงได้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามเอกสารหมาย จ.5 และได้ถ่ายภาพอาคารพิพาทไว้ด้วยตามภาพถ่ายหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยก็นำสืบรับว่าได้ต่อเติมอาคารพิพาทจาก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้น และมีดาดฟ้าด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ทั้งตามเอกสารหมาย จ.5 ก็มีใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็น 4 ชั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีทางเดินด้านหลังอาคารและแนวอาคารไม่ร่นหลบแนวเขตถนน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทเนื่องจากโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทภายหลังจากมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างเกิน 30 วันแล้วอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยมิชักช้าและต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารก็ตาม แต่คำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทที่ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน ก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทที่ต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงให้ถูกต้องหมดไป โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้
จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 4แต่ผู้เดียวทำการรื้อถอนอาคารพิพาท ไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ทำการรื้อถอนด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาท เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 4ทำการรื้อถอนอาคารพิพาทแล้ว ย่อมถือได้ว่าได้มีคำสั่งแจ้งให้เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาททราบโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของร่วมทุกคนทราบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share