คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็น กว้างประมาณ 2 วา ยาวประมาณ 24 วา ด้านทิศเหนือ ที่ดินของจำเลยโฉนดที่ดินเลขที่ 33960 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อโจทก์ออกไปทางสาธารณประโยชน์ได้
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นตรวจคำให้การและฟ้องแย้งแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางกว้าง 4 เมตร ความยาวตลอดแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 33960 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ด้านทิศเหนือนับจากแนวเขตที่ติดต่อกับที่ดินโจทก์จนบรรจบทางสาธารณะ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17193 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33960 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โดยด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์อยู่ติดที่ดินของจำเลย และด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยอยู่ติดทางสาธารณะ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์สามารถใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านที่ดินของจำเลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” เห็นว่า การขอทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะนั้น กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น ฎีกาของจำเลยปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับรถยนต์หรือไม่ เห็นว่า ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย โจทก์เบิกความรับว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบก็มีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางพิพาทได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางพิพาทขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางพิพาทกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้เปิดทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยปัญหานี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ย่อมอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลในส่วนฟ้องแย้งให้แก่จำเลยทั้งหมด แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เป็นพับ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางกว้าง 1 เมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คืนค่าธรรมเนียมศาลในส่วนฟ้องแย้งให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share