คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ราคาที่ดินและบ้านพิพาทรวมกันประมาณ 70,000-100,000 บาทการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกขายที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 15,000 บาท จึงเป็นราคาที่ต่ำไม่เหมาะสมนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ขอจำเลยที่ 2 มาเลี้ยงดูอย่างลูกและอยู่บ้านเดียวกัน ทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่มีโอกาสรู้เห็นการขายที่ดินและบ้านพิพาท มีวี่แววให้น่าสงสัยถึงความไม่สุจริตของจำเลยทั้งสองจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ทั้งสองและทายาทโดยธรรมเสียเปรียบ ศาลเพิกถอนเสียได้ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทกันในราคา 60,000 บาท แต่จดทะเบียนเพียง 15,000 บาท นั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จึงไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งใจจัดการทำศพทายาทผู้ตายก็ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการศพจำเลยกระทำตามอำเภอใจ ใช้จ่ายค่าจัดการศพผู้ตายไปเองค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงมิใช่หนี้ที่เจ้ามรดกต้องชดใช้ให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะหักหนี้ค่าจัดการศพผู้ตายไว้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหมื่น ขันฤทธิ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1เป็นภริยาของผู้ตายแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่จำเลยที่ 1 นำมาอุปการะเลี้ยงดู ผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นมรดกคือที่ดิน 1 แปลง และมีบ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลังปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตายในที่ดินมรดกดังกล่าว ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินทั้งแปลงพร้อมกับบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 ในลักษณะเป็นการฉ้อฉลขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วนำทรัพย์มรดกของผู้ตายมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามสิทธิหรือให้จำเลยที่ 1 โอนขายทรัพย์มรดกทั้งหมดในราคาที่เป็นจริงแล้วแบ่งราคามรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วน หรือให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาทรัพย์มรดกจากราคาที่ควรจะขายได้จริง โดยแบ่งส่วนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ในการจัดการขายทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 กระทำโดยได้รับความยินยอมจากทายาทส่วนเงินที่ขายทรัพย์มรดกได้นั้นเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ได้นำมาชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพของนายหมื่นผู้ตายไปประมาณ65,000 บาท ดังนั้นเงินในส่วนที่เป็นมรดกของผู้ตายยังไม่เพียงพอชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับเงินดังกล่าวแต่โจทก์ทั้งสองแจ้งว่า ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวและโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจที่จะรับทรัพย์มรดกรายนี้อีกการที่จำเลยที่ 1 ทำการโอนทรัพย์มรดกโดยมีค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยถูกต้องแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ไม่ได้ร่วมกันฉ้อฉลแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและบ้านตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17405 ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนมรดกของผู้ตายที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกของผู้ตายให้โจทก์ทั้งสองหากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์ตามส่วน หากไม่สามารถเพิกถอนได้ไม่ว่ากรณีใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินตามส่วนในราคาเหมาะสมที่ควรจะขายได้จริงให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสุรีย์ ตื้อยศทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายและในฐานะส่วนตัวได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17405 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ดิน 94ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่จำเลยที่ 2ในราคา 15,000 บาท ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และเอกสารหมาย จ.2 ตามลำดับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยเป็นการฉ้อฉลหรือไม่ โจทก์มีนางสุรีย์ตื้อยศ นางแดง ชื่นตา จ่าสิบตำรวจสุพรรณ เขียวดี พยานโจทก์เบิกความตรงคำกันว่า ที่ดินและบ้านพิพาทควรขายในราคา 100,000 บาทนายเมืองใจ ทองคำมา พยานโจทก์ปากหนึ่งเบิกความว่า ที่ดินหมู่ที่ 2ตำบลดอนแก้ว ราคาประเมินของทางราชการไร่ละ 60,000 บาท ส่วนจำเลยมีนายชื่น ดวงงาม เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นกำนันตำบลดอนแก้วรู้จักผู้ตายและจำเลย บ้านผู้ตายราคาประมาณ 10,000 บาท ที่ดินของผู้ตายอยู่ติดถนน นายศรีทน มาเอี้ยง พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า บ้านผู้ตายอาจขายได้ราคา 10,000 บาทเศษ ส่วนที่ดินราคาซื้อขายกันไม่เกิน 50,000 บาท นายเดช ใจซื่อ นางวันเพ็ญพูนธวัชว์ พยานจำเลยเบิกความว่า ราคาที่ดินและบ้านไม่เกิน 70,000บาท เมื่อประเมินราคาที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว ราคารวมกันประมาณ70,000-100,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 15,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2จึงเป็นราคาที่ต่ำไม่เหมาะสม นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ขอจำเลยที่ 2 มาเลี้ยงอย่างลูกและอยู่บ้านเดียวกัน ทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่มีโอกาสรู้เห็นการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาท มีวี่แววให้น่าสงสัยถึงความไม่สุจริตของจำเลยทั้งสอง พยานแวดล้อมกรณีของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ทั้งสองและทายาทโดยธรรมเสียเปรียบศาลเพิกถอนเสียได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทกันในราคา 60,000 บาท แต่จดทะเบียนเพียง 15,000 บาทนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นจึงไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิรับเงินจากการขายที่ดินหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(3) เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่ภริยาของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้สืบสันดานของผู้ตาย และผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย จำเลยจะถือว่าที่จำเลยจัดการศพผู้ตายและเสียค่าใช้จ่ายไปก่อน จำเลยเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีสิทธิหักทรัพย์มรดกของผู้ตายใช้หนี้แก่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งให้จัดการทำศพ และค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เจ้ามรดกต้องชดใช้ให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649ทั้งทายาทผู้ตายก็ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการศพจำเลยกระทำตามอำเภอใจ ใช้จ่ายค่าจัดการศพผู้ตายไปเอง จึงหามีสิทธิที่จะหักหนี้ค่าจัดการศพผู้ตายไว้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share