แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดที่พิพาท แต่โจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว และโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 แต่แล้วโจทก์ที่ 1 กลับใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมฟ้องเรียกที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 คืนจากจำเลยที่ 2 เช่นนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เอกสารสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ในขณะทำสัญญากันจะมิได้ปิดอากรแสตมป์แต่ต่อมาได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว จะโดยผู้อ้างปิดอากรแสตมป์เองหรือผู้อ้างจะขอศาลให้สั่งเจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการปิดให้ก็มีผลเช่นเดียวกัน ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
เมื่อโรงงานทำน้ำแข็งและอุปกรณ์เครื่องทำน้ำแข็งพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 2 ได้ก่อสร้างลงในที่ดินโฉนดที่ 2295 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ และโจทก์ที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในที่ดิน โดยโจทก์ที่1และจำเลยที่1ได้ยินยอมให้ปลูกลงในที่ดินเพื่อให้โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ แต่โจทก์ที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ที่ 2 ยังไม่ครบถ้วน โรงงานน้ำแข็งและเครื่องทำน้ำแข็งจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โรงงานน้ำแข็งและเครื่องอุปกรณ์ทำน้ำแข็งดังกล่าวจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอันผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำลงไว้ในที่ดินนั้น จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดที่ 2295 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 แม้ภายหลังต่อมาที่ดินโฉนดที่ 2295 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายฝาก โรงงานน้ำแข็งและเครื่องอุปกรณ์ทำน้ำแข็งก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 ออกจากโรงงานทำน้ำแข็ง และเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 2 มิได้ครอบครองโรงงานทำน้ำแข็งพิพาทจากโจทก์ที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ที่ ๑ ได้ซื้อที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ๒ แปลงอยู่ติดต่อกัน ต่อมาได้ขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวคือโฉนดที่ ๒๒๙๕ มีชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ให้โจทก์ที่ ๒ ก่อสร้างโรงงานทำน้ำแข็งบนที่ดิน โดยโจทก์ที่ ๑ เช่าซื้อจากโจทก์ที่ ๒ ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ได้เช่าซื้อเครื่องทำน้ำแข็งพร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆจากโจทก์ที่ ๒ ติดตั้งในโรงงานอีก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ จำเลยที่ ๑ได้นำที่ดินโฉนดดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดไถ่ถอนภายใน ๑ ปี โดยโจทก์ที่ ๑ ไม่ทราบ ทั้งนี้จำเลยที่ ๑ ปกปิดและสมคบกับจำเลยที่ ๒ ฉ้อโกงโจทก์ โจทก์ที่ ๑ ในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินและโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ให้เช่าซื้อโรงน้ำแข็ง กรรมสิทธิ์ที่ดินและโรงน้ำแข็งยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ จึงขอศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดที่ ๒๒๙๕ ให้จำเลยทั้งสองแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขอยืมเงินจำเลยที่ ๒ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้เงินจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๓๘๐,๐๐๐ บาทได้ใช้ชำระหนี้แก่ธนาคาร ๑๗๗,๐๐๐ บาท แล้วทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้กับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากที่ดินและโรงงานทำน้ำแข็งรายพิพาทไว้ เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๑๓ โจทก์ที่ ๑ ได้ขอเช่าทรัพย์รายพิพาท แต่ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องกำหนดระยะเวลาเช่าจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ จึงขอซื้อทรัพย์พิพาทคืนจำเลยที่ ๒ ยอมตกลงขายให้ในราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่ต้องซื้อทรัพย์คืนภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๔ มิฉะนั้นจำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ จะต้องส่งมอบโรงงานทำน้ำแข็งและดำเนินการโอนชื่อผู้รับอนุญาตประกอบการอุตสาหกรรมทำโรงน้ำแข็งมาเป็นของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ ตกลงด้วย แต่แล้วโจทก์ที่ ๑ กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้ อุปกรณ์การทำน้ำแข็งเป็นส่วนควบของโรงงานทำน้ำแข็งและโรงงานทำน้ำแข็งเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดที่ ๒๒๙๕ ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริตแล้ว สิทธิในโรงน้ำแข็งและอุปกรณ์การทำน้ำแข็งรายพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงไม่อาจนำหนังสือสัญญาเช่าซื้อมายันจำเลยที่ ๒ ได้ทรัพย์พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ การที่โจทก์ที่ ๑ ยังคงอยู่ในทรัพย์พิพาทเป็นการละเมิด ทำให้จำเลยที่ ๒ขาดประโยชน์จากการนำทรัพย์รายพิพาทให้เช่า ซึ่งจะได้ค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๗ เดือน ๒๕ วัน เป็นเงิน ๔๗,๐๐๐ บาทขอศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ขับไล่โจทก์ออกจากทรัพย์พิพาทให้โจทก์ที่ ๑ ใช้ค่าเสียหาย ๔๗,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ ๖,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์ที่ ๑ ส่งมอบโรงทำน้ำแข็งรายพิพาทแก่จำเลยที่ ๒และให้โจทก์ที่ ๑ โอนใบอนุญาตประกอบการอุตสาหกรรมทำโรงน้ำแข็งมาเป็นของจำเลยที่ ๒ ฯลฯ
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่เคยเสนอขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งไม่เคยสัญญาว่าจะโอนใบอนุญาตตั้งโรงน้ำแข็ง หรือได้มอบใบอนุญาตให้ขยายโรงงานทำน้ำแข็งของโจทก์ที่ ๑ ให้แก่จำเลยที่ ๒ และก็ไม่เคยขอเช่าหรือขอซื้อทรัพย์รายพิพาทคืนจำเลยที่ ๒ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท เพราะได้มาโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๙๕ เฉพาะที่ดินส่วนของโจทก์ที่ ๑ และโรงงานทำน้ำแข็งของโจทก์ที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไปจัดการขอแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ ๒ ที่จะฟ้องเรียกเอาดอกผลตามส่วนของตนในฐานะเจ้าของรวมภายในอายุความ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ เฉพาะการขายฝากโรงงานทำน้ำแข็งที่เป็นของโจทก์ที่ ๒ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์ที่ ๑ ได้ร่วมรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๑ เอาที่ดินและโรงน้ำแข็งไปขายฝากจำเลยที่ ๒ เมื่อที่ดินพิพาทโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย แต่ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว และโจทก์ที่ ๑ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ ๒ แต่แล้วโจทก์ที่ ๑ กลับใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมฟ้องเรียกที่ดินส่วนของโจทก์ที่ ๑ คืนจากจำเลยที่ ๒ เช่นนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเชื่อว่าโรงน้ำแข็งและเครื่องอุปกรณ์ทำน้ำแข็งพิพาท โจทก์ที่ ๒ ให้โจทก์ที่ ๑ เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อที่ได้ทำกันไว้ ส่วนเอกสารสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ในขณะทำสัญญากันจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ แต่ต่อมาได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้วจะโดยผู้อ้างปิดอากรแสตมป์เองหรือผู้อ้างจะขอศาลให้สั่งเจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการปิดให้ ก็มีผลเช่นเดียวกัน ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ส่วนข้อฎีกาที่ว่าโจทก์ที่ ๒ มีเครื่องผลิตน้ำแข็งราคาเป็นจำนวนสูงให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ไม่จดทะเบียนการค้า นั้นเห็นว่าถ้าเป็นความจริงก็เป็นเรื่องความไม่สมบูรณ์ในการประกอบกิจการค้าของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้
เมื่อโรงงานทำน้ำแข็งและอุปกรณ์เครื่องทำน้ำแข็งพิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๒ ได้ก่อสร้างลงในที่ดินโฉนดที่ ๒๒๙๕ ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ และโจทก์ที่ ๑มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโดยโจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้ยินยอมให้ปลูกลงในที่ดินเพื่อให้โจทก์ที่ ๑ เช่าซื้อ แต่โจทก์ที่ ๑ ยังชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ที่ ๒ ยังไม่ครบถ้วน โรงงานน้ำแข็งและเครื่องทำน้ำแข็งจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๑ โรงงานน้ำแข็งและเครื่องอุปกรณ์ทำน้ำแข็งดังกล่าวจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอันผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำลงไว้ในที่ดินนั้น จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดที่ ๒๒๙๕ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๙แม้ภายหลังต่อมาที่ดินโฉนดที่ ๒๒๙๕ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ตามหนังสือสัญญาขายฝาก โรงงานน้ำแข็งและเครื่องอุปกรณ์ทำน้ำแข็งก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน จึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ที่ ๑ ออกจากโรงงานทำน้ำแข็งและเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ ๒ มิได้ครอบครองโรงงานทำน้ำแข็งพิพาทจากโจทก์ที่ ๑
พิพากษายืน