คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทลงนามเป็นผู้ขายในนามของบริษัทเมื่อบริษัทได้รับเอาสัญญาที่ผู้จัดการฝ่ายขายลงนามไว้กับผู้ซื้อเป็นของบริษัทแล้ว ต่อมาบริษัทจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าผู้จัดการฝ่ายขายลงนามเป็นผู้ขายในนามบริษัทโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจหาได้ไม่
สัญญาซื้อขายข้อ 7 ที่มีข้อความว่า “ถ้าผู้ขายไม่นำสิ่งของมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อให้ถูกต้องภายในกำหนดสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นเงินร้อยละ 5 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่ง โดยคิดเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ขายจะได้นำสิ่งของนั้นๆ มาส่งให้ผู้ซื้อจนครบถ้วนและถูกต้องตามสัญญา” นั้นเป็นเรื่องผู้ขายส่งมอบสิ่งของล่าช้ากว่ากำหนด ผู้ซื้อมีสิทธิปรับผู้ขายได้จนกว่าผู้ขายจะส่งมอบให้ผู้ซื้อครบถ้วนตามสัญญา แต่กรณีที่ผู้ขายส่งมอบสิ่งของให้ผู้ซื้อไม่ได้เลยนั้น ผู้ซื้อจะคำนวณเอาค่าปรับจากผู้ขายตามสัญญาข้อ 7 นี้ไม่ได้ การที่ผู้ซื้อตั้งมูลฟ้องให้บังคับผู้ขายตามสัญญาข้อ 7 พอจะแปลเจตนาของผู้ซื้อได้ว่า เพื่อจะคิดเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายในการเลิกสัญญากับผู้ขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391นั่นเอง เมื่อผู้ขายส่งมอบสิ่งของให้ผู้ซื้อไม่ได้เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อ และเมื่อความเสียหายไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ศาลย่อมกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตามควรแก่กรณี (อ้างฎีกาที่ 1086/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องสูบน้ำบ่อลึกและเครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำพร้อมอะไหล่ รวม 2 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,041,470 บาท จากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องนำสิ่งของตามสัญญาไปส่งมอบให้โจทก์ให้ครบภายใน 210 วัน ถ้าไม่นำไปส่งมอบภายในกำหนดตามสัญญา จะยอมให้โจทก์ปรับร้อยละ 5 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่ง โดยคิดเป็นรายเดือนจนกว่าจะนำสิ่งของมาส่งมอบ และจำเลยได้นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ในจำนวนไม่เกิน 102,073.50 บาท มามอบให้โจทก์ด้วยต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่อาจส่งเครื่องยนต์ให้โจทก์ได้ ขอเลิกสัญญาโจทก์ตกลงเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าปรับร้อยละ 5 ของราคาเครื่องยนต์ 50 เครื่องตามสัญญาข้อ 7 รวม 13 เดือน 9 วัน เป็นเงิน 422,242.25 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระก็ไม่ชำระและได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินตามจำนวนที่ค้ำประกัน จำเลยที่ 2ก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ ผู้ที่ลงนามในสัญญาไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จะปรับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะตามสัญญาซื้อขายข้อ 7 เป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์พ้นวิสัย และขัดต่อความสงบเรียบร้อย ฯ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพราะไม่สามารถส่งมอบของให้โจทก์ได้ไม่ใช่เพราะส่งมอบล่าช้าจึงไม่เป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาข้อนี้ได้และโจทก์คำนวณค่าปรับไม่ถูกต้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริงแต่โจทก์ขยายเวลาในการส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ได้ยื่นคำเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 10 เมษายน 2512 ตามหนังสือค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงพ้นความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับ 422,242.25 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ตกลงซื้อเครื่องสูบน้ำบ่อลึกยี่ห้อแฟร์แบงส์ 50 เครื่อง และเครื่องยนต์ยี่ห้อเพตเตอร์ซึ่งใช้คู่กับเครื่องสูบน้ำ 50 เครื่องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาหมาย จ.1 โดยนายต้อย ตั้งสง่า ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ลงนามเป็นผู้ขายในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ภายใน 210 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 16 มีนาคม 2512 ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2511 จำเลยที่ 1 ได้ส่งเครื่องสูบน้ำให้โจทก์ 50 เครื่องตามสัญญา และวันที่ 29 ธันวาคม 2512 ได้ส่งเครื่องยนต์ไปให้ครบชุด แต่เครื่องยนต์นั้นทำในประเทศอินเดียซึ่งตามสัญญาต้องทำในประเทศอังกฤษ กรรมการโจทก์จึงไม่ยอมรับและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ตอบมาว่า ไม่สามารถซื้อเครื่องยนต์ซึ่งทำในประเทศอังกฤษให้ได้ จึงขอเลิกสัญญายอมรับผิดต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับเครื่องสูบน้ำและเครื่องยนต์คืนไปทั้งหมด โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 422,242.25 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ

ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายหมาย จง1 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะนายต้อย ตั้งสง่า ลงนามเป็นผู้ขายในนามบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายต้อย ตั้งสง่า พยานจำเลยเบิกความว่า พยานได้ลงนามในสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ปีละหลาย ๆ ครั้ง ส่วนใหญ่มีใบมอบอำนาจ แต่ที่ไม่มีก็มีจะมีใบมอบอำนาจหรือไม่ จำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติตามที่พยานลงนามเสมอไม่เคยปฏิเสธสัญญาที่พยานลงนามเลย และเมื่อกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอลดค่าปรับตามเอกสารหมาย จ.6 ก็ว่า บริษัทยอมรับผิดทุกประการ ดังนี้ เป็นการยืนยันอยู่ว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ได้รับเอาสัญญาที่นายต้อย ตั้งสง่า ผู้จัดการฝ่ายขายลงนามไว้กับโจทก์เป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยแท้ จำเลยที่ 1จะปฏิเสธความรับผิดในข้อนี้หาได้ไม่

ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 7 ซึ่งมีข้อความว่า “ถ้าผู้ขายไม่นำสิ่งของมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อให้ถูกต้องภายในกำหนดสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นเงินร้อยละ 5 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้ส่ง โดยคิดเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ขายจะได้นำสิ่งของนั้น ๆ มาส่งให้ผู้ซื้อจนครบถ้วนและถูกต้องตามสัญญา” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาข้อ 7 นี้ เป็นเรื่องส่งมอบสิ่งของล่าช้ากว่ากำหนด โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยได้จนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา แต่กรณีพิพาทนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ไม่ได้เลยเพราะเครื่องยนต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้โจทก์เป็นคนละชนิดกับที่ตกลงซื้อขายกัน และเครื่องสูบน้ำบางชิ้นประกอบเข้ากันไม่ได้โจทก์จึงไม่รับมอบเครื่องสูบน้ำและเครื่องยนต์ทั้งหมด ในที่สุดเป็นอันเลิกสัญญากัน โจทก์จะคำนวณเอาค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 7 ไม่ได้ แต่พอจะแปลเจตนาของโจทก์ได้ว่า การที่โจทก์ตั้งมูลฟ้องให้บังคับจำเลยตามสัญญาข้อ 7 ก็เพื่อจะคิดเป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายในการเลิกสัญญากับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 นั้นเอง การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของให้โจทก์ไม่ได้ เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นที่เห็นได้ว่าย่อมเกิดความเสียหายแก่โครงการพัฒนาของโจทก์ มิได้เป็นไปตามเป้าหมายของทางราชการความเสียหายนี้ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ศาลจึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตามควรแก่กรณี ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1086/2509 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 200,000 บาท

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 200,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share