คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้หัวข้อของสัญญาจะระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายก็ตามแต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าให้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตกเป็นของโจทก์ในวันทำสัญญาแต่อย่างใด กลับมีข้อความระบุว่าจะไปทำการโอนโฉนดกันเมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยหมดแล้ว แสดงว่าตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับค่าที่ดินครบถ้วน ก็ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ การที่ตกลง โอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง จึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเนื้อที่ 15 ไร่แก่โจทก์ ถ้าไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหามีว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์หรือไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาเอกสารหมาย จ.2 กับโจทก์เพียงเพื่อนำไปหลอกธนาคาร เพื่อธนาคารจะได้ให้โจทก์กู้เงินมิได้มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญานั้น เห็นว่าได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยเองว่าจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในช่องว่างของแบบสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีความบางตอนว่าผู้ขายได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3682 จำนวน 15 ไร่ การแบ่งแยกโฉนดให้บ้านผู้ซื้ออยู่ในโฉนด ที่ดินที่เสียหายเป็นคลองเป็นบ่อผู้ซื้อผู้ขายรับผิดชอบคนละครึ่ง โฉนดของใครไม่มีทางออกอีกโฉนดหนึ่งจะต้องยอมให้อีกฝ่ายใช้ทางออกได้โดยไม่คิดค่าผ่านทางและเมื่อผู้ซื้อชำระเงินหมดแล้วจะโอนโฉนดให้ ณ วันซื้อขายและเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความระบุถึงจำนวนเงิน 5 รายการต่อท้ายรายการทั้งห้า จำเลยบันทึกข้อความว่าได้รับเงินจากโจทก์ไว้แล้วตามจำนวนทั้งห้ารายการดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.9ทนายความของจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายพิพาท อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและข้อตกลง ดังนี้หากทั้งสองฝ่ายมิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่พิพาท คงไม่กล่าวถึงการแบ่งแยกที่ดินทั้งแปลงว่าให้ส่วนใดเป็นของผู้ใดการแบ่งความรับผิดชอบในสภาพของที่ดิน และข้อตกลงเรื่องการเดินออกสู่ทางสาธารณะไว้ ที่กล่าวไว้อย่างละเอียดคงเป็นเพราะแต่ละฝ่ายต่างเป็นห่วงว่าจะเกิดกรณีพิพาทขึ้นภายหลังถ้าทั้งสองฝ่ายเพียงประสงค์จะทำขึ้นเพื่อลวงธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบันทึกข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นและเพียงการทำสัญญาระบุข้อความตามเอกสารหมาย จ.2กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนเป็นของโจทก์ ธนาคารที่จะให้เงินกู้ยืมก็คงไม่สนใจที่จะให้โจทก์กู้ยืม โดยที่อาศัยเพียงสัญญา เอกสารหมาย จ.2 ที่มิใช่เป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท จะเห็นได้ว่า เมื่อโจทก์ไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร ตามเอกสารหมาย จ.4ธนาคารได้ให้จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันและให้จำเลยจำนองโฉนดที่ 3682เป็นประกันทั้งแปลงไว้อีกด้วย แสดงว่าธนาคารคำนึงถึงบุคคลและทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยมิได้สนใจต่อสัญญาเอกสารหมาย จ.2 เลยทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเองก็เป็นผู้มีการศึกษาดีมีความสำเร็จชั้นปริญญาทางบัญชี ย่อมจะทราบในเรื่องเช่นนี้ได้ดีนอกจากนี้ข้อความในบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ระบุถึงการที่จำเลยได้รับเงินถึง 5 คราวไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความในรายการใดระบุชัดลงไปว่า เป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมไป ที่มีข้อความด้านหลังเอกสารหมาย จ.2 ทั้งสองรายการระบุว่าโจทก์ให้จำเลยยืมเงินก็เป็นลายมือจำเลยเขียนขึ้นเอง น่าจะไม่ตรงตามความประสงค์อันแท้จริงของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงได้ขีดฆ่าข้อความตอนที่แสดงยอดเงินทั้งหมดที่จำเลยรับไปแล้วออกเสียยิ่งกว่านั้นหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่พิพาทเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความชัดว่าฝ่ายจำเลยขอเลิกสัญญาจะซื้อขายที่พิพาท ผู้ทำหนังสือนี้เป็นทนายความซึ่งจำเลยก็รับว่าเป็นทนายความของตน ที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าจำเลยมิได้มอบหมายให้ทนายความบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทนั้นจำเลยเพิ่งอ้างความข้อนี้มาในชั้นฎีกา ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อที่ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ดังนั้นถ้าจำเลยมิได้เจตนาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์ ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอเลิกสัญญากับโจทก์ที่พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันบางข้อบางตอนตามที่จำเลยอ้างมาในฎีกาเป็นเพียงข้อปลีกย่อยซึ่งเป็นธรรมดาที่พยานอาจเบิกความสับสนคลาดเคลื่อนได้ หาใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดจะทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียไปไม่มีน้ำหนักทั้งหมดเสียทีเดียว พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์ดังที่โจทก์นำสืบ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.2เป็นสัญญาซื้อขายที่พิพาทเสร็จเด็ดขาด เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แม้หัวข้อของสัญญาจะระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายก็ตาม แต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าให้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตกเป็นของโจทก์ในวันทำสัญญาแต่อย่างใดกลับมีข้อความระบุว่าจะไปทำการโอนโฉนดกันเมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยหมดแล้ว ซึ่งแสดงว่าตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับค่าที่ดินครบถ้วน ก็ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์การที่ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทในภายหลัง กรณีจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาท แทนโจทก์

Share