แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุดังที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก พนักงานอัยการย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งสืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่หรือไม่ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคสี่ ก็ให้ศาลสามารถมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานและอ่านคำเบิกความของพยานให้พยานฟังนั้นฟังได้แม้ผู้ต้องหาจะไม่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวอยู่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอโกรกพระ ได้นำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 195/1 หมู่ที่ 3 ตำบลโกรกพระของผู้ต้องหา พบมีคนต่างด้าวสัญชาติพม่าอาศัยอยู่ที่ 6 คน จึงจับกุมคนต่างด้าวส่งพนักงานสอบสวน คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนความผิดของผู้ต้องหาและยังมิได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี โดยที่พยานสำคัญในคดีนี้ต้องถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นการยากที่จะนำพยานดังกล่าวมาสืบในภายหน้า ผู้ร้องจึงขอให้ศาลสืบพยานดังกล่าวไว้ก่อนฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหายังไม่ถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะสืบพยานก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การขอสืบพยานไว้ก่อนต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้ต้องหา เมื่อคดีนี้ผู้ร้องยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา กรณียังไม่อาจขอสืบพยานไว้ก่อนได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอของผู้ร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า “ก่อนฟ้องคดีต่อศาลเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือพนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งสืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาลให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป” จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า กรณีก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก พนักงานอัยการย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งสืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่หรือไม่ ดังจะเห็นได้จากข้อความที่บัญญัติไว้ในตอนท้ายของวรรคแรกว่า ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา” แสดงว่าแม้ผู้ต้องหาจะไม่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวอยู่ ศาลก็สามารถมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานและอ่านคำเบิกความของพยานให้พยานนั้นฟังได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของผู้ร้องและดำเนินการต่อไป