คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกา โดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยแต่ละคน จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตตามที่ขอก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ขยายกำหนดยื่นฎีกาตามคำร้อง เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาแล้วก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้คำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาที่ไม่ชอบดังกล่าว ให้เป็นคำร้องที่ชอบ
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีการแก้ไขกฎหมายบทความผิดและบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพียงแต่ปรับใช้บทกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 และแก้ไขโทษให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายใหม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละคนไม่เกินกระทงละห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาโดยมิได้ร้องขอหรือดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7 (1), 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกต้องประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสองหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี 16 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นฎีกาในวันที่ 28 เมษายน 2546 ก่อนครบกำหนดจำเลยทั้งสองต่างยื่นคำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาไปถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่ปรากฏว่าคำร้องดังกล่าวยื่นโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยแต่ละคน กล่าวคือ คำร้องของจำเลยที่ 1 มีนายพินิจ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้ร้อง ส่วนคำร้องของจำเลยที่ 2 มีนายประทีป ธรรมวิรักษ์ ทนายความของจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้ร้อง คำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตตามที่จำเลยทั้งสองขอก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ขยายกำหนดยื่นฎีกาตามคำร้อง เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 จึงล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นฎีกาพร้อมแต่งตั้งนายพินิจ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้คำร้องขอขยายกำหนดยื่นฎีกาที่ไม่ชอบดังกล่าว ให้เป็นคำร้องที่ชอบ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีการแก้ไขกฎหมายบทความผิดและบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็เพียงแต่ปรับใช้บทกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และแก้ไขโทษให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายใหม่เท่านั้น ซึ่งเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละคนไม่เกินกระทงละห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาโดยมิได้ร้องขอหรือดำเนินการให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาได้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share