คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298-299/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าคดีฟ้องจำเลยหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ ซึ่งปรากฏที่กล่องบรรจุยา และใช้กับสินค้ายาปฏิชีวนะ
บริษัทโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้ว่าคดี แล้วบริษัทโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีขึ้นมาอีกในข้อหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันนี้ที่กล่องบรรจุยาและที่สินค้ายา ดังนี้ บริษัทโจทก์ต้องห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ไม่ชอบ ให้ยกฟ้องที่บริษัทโจทก์ยื่นแต่บริษัทโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยในฐานะโจทก์ร่วมได้
ไม่ว่าจำเลยจะควบคุมผู้ขายปลีกหรือผู้ซื้อได้หรือไม่ จะลงทุน มากหรือไม่ เจ้าพนักงานจะยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ จำเลยหรือไม่จะมีประชาชนซื้อโดยหลงผิดหรือยังเมื่อจำเลยเลียน เครื่องหมายการค้าโดยเจตนาเพื่อจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นของ บริษัทโจทก์ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274(ปัญหาแรกประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2510)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน

ผู้ว่าคดีฟ้องในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกระทำผิด โดยจำเลยที่ 2กระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และกระทำในฐานะส่วนตัว บังอาจเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทอเมริกันไซยันนามิคคัมปะนีนิติบุคคลและจำเลยได้จำหน่ายและเสนอจำหน่ายยาปฏิชีวนะที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยเลียนขึ้นนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 275, 272(1) ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดี

สำนวนหลัง ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยมีข้อความทำนองเดียวกับสำนวนแรก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 275, 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

ผู้เสียหายเป็นโจทก์ในสำนวนหลัง และเป็นโจทก์ในสำนวนแรกอุทธรณ์ขึ้นมาทั้งสองสำนวนโดยได้รับอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การกระทำของจำเลยน่าเชื่อว่าเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นของบริษัทโจทก์ จำเลยจึงมีความผิด แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยพนักงานเจ้าหน้าที่รับจะจดทะเบียนให้ เมื่อเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ก็ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะไม่มีความผิดพิพากษากลับให้ปรับจำเลยคนละ 1,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 274

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ ผู้ว่าคดีฟ้องจำเลยในข้อหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ ซึ่งปรากฏที่กล่องบรรจุยาและใช้กับสินค้ายาปฏิชีวนะบริษัทโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้ว่าคดี แล้วยื่นฟ้องเป็นคดีขึ้นมาอีกในข้อหาว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันนี้ที่กล่องบรรจุยา และที่สินค้ายาซึ่งผู้ว่าคดีฟ้องและบริษัทโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์อยู่ด้วยแล้ว ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า บริษัทโจทก์ต้องห้ามมิให้ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นขึ้นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรค 2(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องของบริษัทโจทก์ที่ยื่นเข้ามาใหม่ จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา แต่อย่างไรก็ดีบริษัทโจทก์ก็คงเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่ผู้ว่าคดีเป็นโจทก์อยู่แล้วนั้น และดำเนินคดีกับจำเลยในฐานะเป็นโจทก์ร่วมได้ ศาลฎีกาจึงพิจารณาฎีกาของจำเลยต่อไป

ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่บริษัทโจทก์จดทะเบียนไว้บนแคปซูลยา คือ อักษรโรมันตัวเขียน Lederle ส่วนที่จำเลยยื่นคำขอจดคือ อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ LEADTRA จำเลยกลับนำอักษรโรมันตัวเขียนอย่างของบริษัทโจทก์มาใช้ทำขนาด ทำลักษณะและลีลาในการเขียนอย่างของบริษัทโจทก์ ขึ้นต้นด้วยตัวเขียนใหญ่ “L” โตพอเห็นได้และโตขนาดอย่างของบริษัทโจทก์ ส่วนตัวต่อไปอีก 6 ตัว เป็นตัวเขียนเล็กจิ๋วละเอียดยิบอย่างของบริษัทโจทก์ ซึ่งแม้ผู้รู้และอ่านอักษรโรมันได้ ก็ยากที่จะรู้ และอ่านตัวอักษรซึ่งเรียงกันอยู่นั้นได้ ทำให้หลงไม่สนใจอ่านอักษรตัวต่อ ๆ ไปว่าเป็นอักษรอะไรบ้าง ทำแคปซูลเป็นสีเหลือง ทำตัวอักษรเป็นสีเขียว วางอักษรบนแคปซูลในตำแหน่งและทิศทางอย่างของบริษัทโจทก์ ทำหลังจากบริษัทโจทก์ก็ได้ผลิตส่งมาจำหน่ายและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”Lederle” ในประเทศไทยแล้วถึง 12 ปี เป็นการที่จำเลยทำเอาอย่าง ทำตามพยายามทำให้เหมือนของบริษัทโจทก์ เป็นการที่จำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ โดยเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์นั่นเอง แม้แคปซูลสี ลักษณะ และ ขนาด บริษัทโจทก์มิได้จดทะเบียนไว้ และสูตรยามีกำหนดมาตรฐานตามหลักสูตรสากลดังจำเลยอ้าง แต่เมื่อจำเลยทำเอาอย่างของบริษัทโจทก์ ก็ย่อมเป็นเครื่องประกอบให้เห็นความประสงค์ของจำเลยที่จะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ยิ่งขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะควบคุมผู้ขายปลีกหรือผู้ซื้อได้หรือไม่ จะลงทุนมากหรือไม่ เจ้าพนักงานจะยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยหรือไม่ จะมีประชาชนซื้อโดยผิดหลงหรือยัง เมื่อจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าที่แคปซูลยาของบริษัทโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว โดยเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ก็เป็นความผิด

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องที่บริษัทโจทก์ยื่นมาโดยเฉพาะนั้นเสียแต่คงให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องของผู้ว่าคดีซึ่งบริษัทโจทก์ร่วมนั้นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประการ

Share