แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่ปัญหาที่ว่า นิติกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยยกขึ้นอ้างอิงฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรค 2
จำเลยโอนสวนยางรายพิพาทตีใช้หนี้จำนองที่สามีของจำเลยติดค้างโจทก์อยู่เป็นการชำระหนี้จำนองแก่กันให้เสร็จสิ้นไป ไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า นายอ่องสุยเซ่งสามีจำเลยได้กู้เงินโจทก์และจำนองสวนยาง 1 แปลงไว้กับโจทก์ หลังจากสามีจำเลยตาย จำเลยได้โอนสวนยางแปลงนี้เป็นของจำเลยเองแล้วกู้เงินและจำนองไว้กับโจทก์อีก รวมเป็นหนี้โจทก์อยู่ทั้งสิ้น 137,000 บาท ต่อมาจำเลยได้โอนสวนยางแปลงนี้ตีใช้หนี้จำนองให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาโจทก์ได้ยินยอมให้นางสาวสุจิตราบุตรจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและสวนของโจทก์ร่วมกับจำเลย โดยนางสาวสุจิตราได้ทำสัญญาอาศัยให้โจทก์ยึดถือไว้ และโจทก์ได้เคยทำสัญญาจะแบ่งสวนยางให้จำเลย 30 ไร่ โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยจะต้องออกจากสวนยางของโจทก์ภายใน 3 เดือน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา การที่โจทก์จะยกสวนยางให้เป็นอันยกเลิก บัดนี้นางสาวสุจิตราไปอยู่ที่อื่นแล้ว คงมีแต่จำเลยอยู่ในสวนและบ้านของโจทก์ และต้นปีนี้จำเลยได้แสดงเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์อย่างร้ายแรงจึงขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากสวนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า กู้เงินและจำนองสวนยางไว้กับโจทก์จริง เหตุที่โอนสวนยางให้โจทก์เพราะโจทก์ให้จำเลยนำสวนยางทั้งหมดมาปรับปรุงขอรับทุนสงเคราะห์จากรัฐบาลบางส่วน ส่วนที่ขาดโจทก์จะเป็นผู้ออกทั้งหมดและจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เมื่อปรับปรุงจนกรีดน้ำยางได้ทั้งหมดแล้วโจทก์จะแบ่งสวนยางให้จำเลย 1 ส่วน ให้จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านได้ตลอดไป และภายหลังโอนให้โจทก์แล้วจำเลยก็ยังครอบครองอยู่อาศัยในสวนกรีดน้ำยางเลี้ยงชีพ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่จัดการโค่นต้นยางเก่าแล้วปลูกใหม่ เมื่อจำเลยเตือนหนักเข้าก็บีบคั้น จำเลยมิได้มีเจตนาทำสัญญานั้น เมื่อทำไปแล้วเห็นว่าจำเลยเสียเปรียบ จึงบอกเลิกสัญญา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากสวนยางและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยโอนที่พิพาทใช้หนี้แก่โจทก์นั้นเป็นการผิดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรค 2 จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยนี้ จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาที่ว่า นิติกรรมเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยยกขึ้นอ้างอิงฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรค 2 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นยุติว่า จำเลยได้โอนสวนยางรายพิพาทเพื่อตีใช้หนี้จำนองที่นายอ่องสุยเซ่งสามีของจำเลยติดค้างโจทก์อยู่เป็นการชำระหนี้จำนองแก่กันให้เสร็จสิ้นไป
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จำเลยโอนสวนยางรายพิพาทให้โจทก์นั้น เป็นการที่จำเลยตกลงเอาที่พิพาทชำระหนี้เงินที่นายอ่องสุยเซ่งสามีจำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์โดยจำนองที่พิพาทไว้เป็นประกัน และโจทก์ยอมรับเอาที่พิพาทแทนการชำระหนี้เงินกู้นั้น อันมีผลให้หนี้เงินกู้ที่มีการจำนองเป็นประกันระงับสิ้นไป ทำให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไปด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321, 744 ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่เป็นโมฆะ
พิพากษายืน