คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จะมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 ลงวันที่ 18 ธันวาคม2514 กำหนดแนวทางหลวงแผ่นดินผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้วแต่เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกา และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 พระราชกฤษฎีกาที่ออกใช้บังคับในครั้งหลังนี้จึงมีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 ไปโดยปริยาย ดังนั้น เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76(2) ซึ่งบัญญัติว่าเงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองจึงต้องถือเอาราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันดังกล่าวและถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในบริเวณที่ถูกเวนคืน ศาลก็มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดราคาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามราคาธรรมดาในท้องตลาดในวันดังกล่าวได้โดยพิจารณาจากราคาธรรมดาในท้องตลาดในการซื้อขายที่ดินในเวลาและในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน หาจำต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลือจากการเวนคืนมีจำนวนมากเมื่อมีถนนสายรัชดาภิเษกแล้วราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว จึงต้องเอาราคาที่สูงขึ้นหักค่าทดแทนตามบทบัญญัติในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 เมื่อหักแล้วไม่ควรจะมีเหลือจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่โจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ให้เห็นว่าราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะสูงกว่าราคาก่อนการสร้างถนนสายรัชดาภิเษกเท่าใด จึงมิใช่ประเด็นที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเลย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้หรือที่ศาลพิพากษาให้เพิ่มขึ้นโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนจำนวนที่โจทก์ทั้งสองสมควรจะได้รับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524ใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันในโฉนดเลขที่ 4236และ 8093 ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสองแปลงคือ อาคารเลขที่ 26 วันที่ 18 ธันวาคม 2524 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงดังกล่าว ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองอยู่ในท้องที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นแนวทางหลวง เป็นจำนวนเนื้อที่ 2 งาน 99 ตารางวา จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองว่าจะเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทน 1,113,000 บาท จากจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมเพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 กำหนดให้เท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2524 ใช้บังคับคือ วันที่19 (ที่ถูกวันที่ 20) ธันวาคม 2524 และจะต้องคำนึงถึงการได้มาสภาพ และที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และข้อ 74(4) บัญญัติให้กำหนดค่าทดแทนแก่ไม้ยืนต้นหรือพืชผลที่มีมาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2524 ใช้บังคับด้วย ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงมีราคาซื้อขายกัน ในท้องตลาดในเดือนธันวาคม 2524 ตารางวาละ25,000 บาท และที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีสภาพรูปทรงเป็นสามเหลี่ยมชายธงไม่มีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษเนื่องจากการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนรวม 299 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทน7,475,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 10,585,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 10,585,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่19 ธันวาคม 2524 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,244,056.25 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้กำหนดค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บัญญัติไว้ทุกประการ การคิดคำนวณราคาค่าทดแทนอาคารพิพาทตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาณการสูงเกินความจริง สภาพที่ดินของโจทก์ทั้งสองมิใช่ทำเลที่ประกอบกิจการค้าหรือทำธุรกิจ แต่เหมาะสมที่จะใช้อยู่อาศัย ที่ดินโฉนดเลขที่ 4236 ถูกเวนคืน คงเหลือเนื้อที่1 งาน 20 ตารางวา ซึ่งที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมิได้ทำให้มีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษ จึงกำหนดค่าทดแทนเท่ากับราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2524 ใช้บังคับคือตารางวาละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทน 594,000 บาทส่วนโฉนดเลขที่ 8093 ถูกเวนคืนเพียง 2 ตารางวา เนื้อที่ดินที่เหลือมีมากสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่และย่อมมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษเพราะเหตุที่ได้มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงกำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 1,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทน 2,000 บาท แม้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 67 จะได้มีบทบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดสิทธิกับเจ้าของทรัพย์เฉพาะกรณีที่ถือว่ามีการกำหนดค่าเวนคืนโดยไม่เป็นธรรมเท่านั้น จำเลยที่ 2พร้อมที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองกลับปฏิเสธและไม่เคยทวงถาม จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจะฟังว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ จำเลยทั้งสองก็ควรรับผิดเฉพาะในจำนวนเงินที่ศาลได้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเกินกว่าที่จำเลยที่ 2 กำหนดให้โจทก์ทั้งสอง นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2524 ประกาศใช้บังคับเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินจำนวน2,392,000 บาท ค่าทดแทน ค่าโรงเรือน ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจำนวน 1,992,670 บาท และค่าไม้ยืนต้นหรือพืชผลจำนวน 7,330 บาทรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,392,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 4,392,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มิใช่ในฐานะส่วนตัวร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 4236 และ 8093แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเขตเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายรัชดาภิเษก ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2514และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก พ.ศ. 2526 เป็นเนื้อที่ 2 งาน 99 ตารางวาในการพิจารณาค่าทดแทนที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 4236 ซึ่งถูกเวนคืน 2 งาน 97 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ2,000 บาท เป็นเงิน 594,000 บาท โฉนดเลขที่ 8093 ซึ่งถูกเวนคืน2 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 1,000 บาท เป็นเงิน 2,000 บาทและค่าทดแทนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 1,113,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,709,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสอง
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง คณะกรรมการเวนคืนได้อาศัยราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งใช้บังคับในปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2514 ตามลำดับ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง ราคาที่ดินตามบัญชีดังกล่าวเป็นราคาที่คำนวณมาจากราคาเฉลี่ยในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในแต่ละท้องที่และเป็นราคาที่ถูกต้องกับความเป็นจริงถือได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2514กำหนดแนวทางหลวงแผ่นดินผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้วก็ตามแต่ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวนี้ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกา และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23พระราชกฤษฎีกาที่ออกใช้บังคับในครั้งหลังนี้จึงมีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ไปโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2514ข้อ 76 บัญญัติว่า เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตาม ข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้…(2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น…และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524ได้ออกใช้บังคับในวันที่ 20 ธันวาคม 2524 ในการกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองจึงต้องถือเอาราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยนำเอาราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับในปี พ.ศ. 2526ซึ่งเป็นที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2526 และในปีพ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นปีที่มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ใช้บังคับจึงหาเป็นการชอบไม่ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำหลักฐานการซื้อขายที่ดินในละแวกอื่นมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนตามราคาธรรมดาในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ มิได้หมายความว่าถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันในบริเวณที่ถูกเวนคืนแล้ว จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนแต่เพียงอย่างเดียว ในกรณีเช่นนี้ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามราคาธรรมดาในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับได้ดังนั้น เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า มีการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6325 กับโฉนดเลขที่ 6327 ซอยสุขุมวิท 19 เมื่อวันที่17 กันยายน 2524 ราคาตารางวาละ 16,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 163291 ถึง 163293 ซึ่งอยู่ในซอยสุขุมวิท 7 เมื่อวันที่29 กรกฎาคม 2524 และวันที่ 30 ธันวาคม 2525 ในราคาตารางวาละ15,000 บาท ที่ดินที่ซื้อขายกันดังกล่าวนี้อยู่เยื้องกับซอยที่ 16ที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งอยู่ และที่ดินของโจทก์อยู่ติดซอยสุขุมวิท 16 อยู่ห่างปากซอยประมาณ 200 เมตร ซอยกว้าง 8-10 เมตรสภาพที่ดินเป็นทำเลที่อยู่อาศัย ศาลล่างทั้งสองจึงใช้ดุลพินิจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณากำหนดเป็นค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองในอัตราตารางวาละ 8,000 บาท ได้ และแม้จะกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้ในอัตราเดียวกันทั้ง 2 โฉนด ก็เป็นการชอบเพราะที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีสภาพติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลือจากการเวนคืนมีจำนวนมาก เมื่อมีถนนสายรัชดาภิเษกแล้วราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว จึงต้องเอาราคาที่สูงขึ้นหักค่าทดแทนตามบทบัญญัติในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 เมื่อหักแล้วไม่ควรจะมีเหลือจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ให้เห็นว่าราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะสูงกว่าราคาก่อนการสร้างถนนสายรัชดาภิเษกแล้วเท่าใด จึงมิได้เป็นประเด็นที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองไม่ได้เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับเงินทดแทนจากจำเลยทั้งสองเอง หากจำเลยทั้งสองจะต้องชำระดอกเบี้ยก็เฉพาะแต่เงินค่าทดแทนที่ศาลให้ชำระเพิ่มขึ้น และนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนเท่านั้น เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 บัญญัติว่า” …ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ…” ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเลย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้หรือที่ศาลพิพากษาให้เพิ่มขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองสมควรจะได้รับนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม2524 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ใช้บังคับจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share