คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2485

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามกฎหมายสันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน. เจ้าของร่วมจะแบ่งกันทำในที่ดินมากน้อยเท่าใด ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงส่วนกรรมสิทธิ์ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่รายพิพาทครึ่งหนึ่งโดยกล่าวว่าโจทก์ได้ออกเงินคนละครึ่งกับบิดามารดาช่วยชำระหนี้ไถ่โฉนดที่พิพาทซึ่งบิดามารดาวางเป็นประกันไว้คืนมา โดยบิดามารดาสัญญาแบ่งที่ดินให้ครึ่งหนึ่ง เวลาออกโฉนดใหม่บิดามารดาใส่ชื่อโจทก์กับมารดาในโฉนด โจทก์ได้ปกครองร่วมกับมารดามาประมาณ ๒๐ ปีมิได้แบ่งแยก บิดามารดาโจทก์วายชนม์แล้ว โจทก์ขอแบ่งที่ส่วนของโจทก์ จำเลยขัดขวาง จึงขอให้ศาลแบ่งจำเลยต่อสู้ว่าที่ดินส่วนของโจทก์เพียง ๕ ร่องนางแดงทำพินัยกรรม์ยกที่ให้จำเลย ๑๔ ร่องศาลชั้นต้นพิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ของโจทก์ในที่ดินรายนี้มีเพียง ๕ ร่อง.
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาทกึ่งหนึ่ง.
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๑๓๕๗ สันนิษฐานไว้ว่า ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน ที่ดินมีชื่อมารดาโจทก์กับโจทก์ จึงต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน และในทะเบียนไม่ได้หมายเหตุว่ามีส่วนไม่เท่ากันอย่างไรการที่มารดาทำที่มากกว่าโจทก์ ไม่ทำให้มารดามีกรรมสิทธิ์ตามเนื้อที่ที่ทำนั้นเสมอไปเพราะประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๑๓๖๐ ให้สิทธิผู้เป็นเจ้าของรวมกันใช้สิทธินั้นได้ ทั้งปรากฎว่าโจทก์เคยเก็บกินในที่ตอนอื่นที่มารดาทำนั้นด้วย เห็นว่าโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของรวมอยู่ทั้งแปลง เจ้าของรวมอาจแบ่งทำที่ดินมากน้อยกว่ากันเท่าใดก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อลงชื่อในโฉนดได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นคนละครึ่งหรือมีส่วนเป็นพิเศษอย่างไรหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ออกเงินไปครึ่งราคาที่ดิน ก็ต้องถือว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง เว้นไว้แต่จำเลยจะนำสืบให้ได้ความว่าโจทก์ยอมรับกรรมสิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง ซึ่งคดีนี้หาปรากฏเช่นนั้นไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share