คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อตกลงเพิ่มเติมซึ่งให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าเรือจะใช้คำว่า สัญญาเช่าเรือและข้อตกลงเรื่องค่าเรือจอดรอ (ค่าชดใช้เรือเสียเวลา)ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญาไม่
เนื้อหาสาระสำคัญของสัญญาเช่าเรือฉบับพิพาทเป็นเรื่องสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ โดยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือเพื่อการเดินทางเที่ยวเดียว มิใช่เป็นเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 537 เพราะผู้เช่าเรือมิได้รับมอบการครอบครองให้ใช้เรือจากโจทก์ผู้ให้เช่าเรือ แต่พนักงานของโจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่าง ๆ ภายในเรือที่ให้เช่าทั้งหมด นอกจากนั้นแล้วค่าชดเชยในเรื่องค่าเรือจอดรอ (ค่าชดใช้เรือเสียเวลา) ซึ่งโจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลย ก็มิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่า เพราะมิใช่เป็นกรณีการฟ้องในเรื่องการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความ 6 เดือน ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 563 เมื่อข้อตกลงเรื่องค่าชดเชยค่าเรือจอดรอ(ค่าชดใช้เรือเสียเวลา) ตามสัญญาเป็นข้อตกลงพิเศษนอกเหนือไปจากหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่าและผู้เช่า ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลงกันได้และไม่มีอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความตามบทบัญญัติมาตรา 193/30 มาใช้บังคับ คือ มีกำหนด 10 ปี
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าเรือของโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าเรือของโจทก์และไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองกระทำการในนามของจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าเรือของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นนายหน้าของโจทก์และได้ยื่นคำเสนอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าเรือของโจทก์ตามคำเสนอเอกสารหมาย ล.1 แต่จำเลยที่ 1 บอกปัดคำเสนอ และให้จำเลยที่ 2 ติดต่อกับบริษัท ม. ในเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นผู้เช่าเรือที่แท้จริง โจทก์จึงเป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์ในปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้ทำสัญญาเช่าเรือของโจทก์

Share