คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคสอง นั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสารเสพติดที่ยังคงตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ หากมีการตรวจพบว่าในขณะที่ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกายแล้ว ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้านี้เมื่อใด ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 18, 37, 62, 64, 76 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 65 วรรคสอง, 66, 91, 102 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน และรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 62 วรรคสอง (ที่ถูกต้องปรับบทด้วยมาตรา 18 วรรคสอง ด้วย) พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 57, 67 (เดิม), 91 (ที่แก้ไขใหม่)) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ปรับกระทงละ 500 บาท รวมปรับคนละ 1,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนคำให้การในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 3 เดือน และปรับ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 3 เดือน และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง ฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายอันเป็นบทหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถ จำคุก 8 เดือน คำรับของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบ ป.อ. มาตรา 52 (2) จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ฯ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 4 เดือน และปรับ 500 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคสอง นั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเนื่องจากฤทธิของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลงอันอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสารเสพติดที่ยังคงตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ หากมีการตรวจพบว่าในขณะที่ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกายแล้ว ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้านี้เมื่อใด ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน.

Share