คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งห้าเป็นคณะกรรมการควบคุมบริษัท ร. ตามความในมาตรา 57,59 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทได้ทุกประการ เมื่อจำเลยได้เข้าทำการตรวจสอบฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทแล้ว จึงได้ทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมี บัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัทรวมอยู่ด้วย บัญชีที่ทำขึ้นเพื่อรายงานกิจการและสถานะทางการเงินของบริษัทดังกล่าวนั้น หาใช่บัญชีตามความมุ่งหมายของ มาตรา 1206 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 42

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ศาลฎีกาสั่งให้รับไว้ คงมีเพียงว่า เอกสารหมาย จ.5 เป็นบัญชีของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1206 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาว่าเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นว่า บริษัทราชาเงินทุน จำกัด มีฐานะและการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน จึงได้แต่งตั้งจำเลยทั้งห้าเป็นคณะกรรมการควบคุมบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ตามความในมาตรา 57, 59 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ได้ทุกประการ เมื่อจำเลยได้เข้าทำการตรวจสอบฐานะการเงิน และการดำเนินงานของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด แล้ว จึงได้ทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด รวมอยู่ด้วยตามบัญชีดังกล่าวบริษัทราชาเงินทุน จำกัด มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้จำนวน 405 ล้านบาทผิดไปจากงบแสดงฐานะทางการเงินและหนี้สินของบริษัทที่ทำไว้ก่อนจำเลยเข้าดำเนินการควบคุม เนื่องจากจำเลยได้ประเมินทรัพย์สินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ว่า มีหนี้สูญจำนวน 1,260 ล้านบาท

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1206บัญญัติไว้ว่า

“กรรมการต้องจัดให้ถือบัญชีซึ่งกล่าวต่อไปนี้ไว้ให้ถูกถ้วนจริง ๆ คือ

(1) จำนวนเงินที่บริษัทได้รับและได้จ่าย ทั้งรายการอันเป็นเหตุให้รับหรือจ่ายเงินทุกรายไป

(2) สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัท”

และมาตรา 1024 ได้บัญญัติไว้อีกว่า ในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดีในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบัญชีเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการ จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า บัญชีของบริษัทนั้นนอกจากจะเป็นบันทึกแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีการรับหรือจ่ายเงินกันอย่างไร เหตุใดจึงมีการรับและจ่ายเงินนั้น ตลอดจนเป็นการแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีทรัพย์สินหนี้สินอย่างไร จึงเป็นการแสดงให้เห็นการดำเนินงานของบริษัทและฐานะทางการเงินของบริษัทแล้ว บัญชีดังกล่าวยังเป็นหลักฐานใช้ยันกันได้ระหว่างผู้ถือหุ้นกันเอง และระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอีกด้วย และจากบัญชีของบริษัทนี้เอง จะเป็นหลักฐานในการคิดคำนวณกำไรขาดทุนอันมีผลในการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น นอกจากนั้น มาตรา 1213 และ มาตรา 1214 ยังกำหนดให้ผู้สอบบัญชีเข้าตรวจสอบบัญชีดังกล่าว และผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยงบดุลและบัญชียื่นต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอีกด้วย บัญชีของบริษัท จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัทและการควบคุมการบริหารงานของกรรมการบริษัท ด้วยเหตุนี้เองประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1206 จึงกำหนดให้กรรมการจัดให้ถือบัญชีขึ้น และมาตรา 1168(2) กำหนดให้กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะต้องจัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อยซึ่งสมุดบัญชีดังกล่าวหากกรรมการละเลยไม่จัดให้ถือบัญชีตามมาตรา 1206 ก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 28(2) และถ้าบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำหรือยินยอมให้กระทำให้บัญชีของบริษัทเสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมหรือลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมานั้น ย่อมเห็นได้ว่าบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นบัญชีที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นเพื่อรายงานกิจการและสถานะทางการเงินของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น หาใช่บัญชีตามความมุ่งหมายของมาตรา 1206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ ที่ศาลทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share