คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 จำเลยยื่นคำร้องพร้อมฎีกาต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2539ขอให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะฎีกาได้จึงเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำร้องของจำเลยพร้อมฎีกาที่ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2539 นั้นแม้จะยื่นก่อนเวลาที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา แต่ก็เป็นการยื่นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาแล้ว จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่17 กันยายน 2539 ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยยื่นคำร้องพร้อมฎีกาไปยังผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นขอให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 แต่ผู้พิพากษาดังกล่าวไม่อนุญาต

ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องพร้อมฎีกาไปยังผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ขอให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อพ้นกำหนดอายุฎีกาแล้วจึงไม่อาจรับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ให้ยกคำร้อง

จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้จำเลยฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 บัญญัติให้คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/5 บัญญัติว่า ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นเดือนให้คำนวณตามปีปฏิทิน ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งเดือนระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น และตามหลักฐานในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 หากจำเลยจะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยจะต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ปรากฏว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องในวันที่16 ตุลาคม 2539 ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เมื่อนับระยะเวลาเป็นวันตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3วรรคสอง บัญญัติมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นผลให้ระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นฎีกาได้นั้นยืดออกไปอีกโดยจำเลยสามารถยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำร้องพร้อมฎีกาต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นในวันที่ 29 ตุลาคม2539 ขอให้อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 นั้น ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะฎีกาได้จึงเป็นคำร้องที่ยื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำร้องของจำเลยพร้อมฎีกาที่ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 นั้น แม้จะเป็นการยื่นก่อนเวลาที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการยื่นเพื่อปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เสียแล้ว การยื่นคำร้องดังกล่าวของจำเลยต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share