แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้เงินในขณะทำสัญญาหรือขณะยื่นคำฟ้องไม่ เมื่อสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน และขีดฆ่าแล้วก่อนโจทก์ส่งสัญญาดังกล่าวต่อศาลในวันสืบพยานโจทก์ ย่อมรับฟังสัญญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยลงชื่อในเอกสารสัญญากู้เงิน โดยสำคัญผิดและได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วนิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังว่าจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยชอบ การที่จำเลยอ้างว่าลงชื่อในเอกสารโดยสำคัญผิดจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว อันนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าเอกสารสัญญากู้เงินที่จำเลยบอกล้างแล้วจะนำมาใช้บังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์ชั้นฎีกาของจำเลยไม่เกินสองแสนบาท จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 55,000 บาท ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือและจำเลยยังได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 535 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน จำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่กู้ยืมเงินไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 75,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 55,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้องสัญญากู้เงินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์เพราะนางประยูร (ผิวจันทร์) ธรรมสัตย์น้องสามีจำเลยได้ขอยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย อ้างว่าจะเอาไปค้ำประกันสามีซึ่งจะไปทำงานต่างประเทศ และให้จำเลยลงชื่อในกระดาษแบบพิมพ์เปล่า ๆ ซึ่งนางประยูรบอกว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจนางประยูรรับรองว่าหากสามีไม่ได้ไปทำงานต่างประเทศก็จะคืนให้โดยเร็วและถ้าได้ไปทำงานก็จะส่งคืนภายใน 2-3 ปี หลังจากนั้นนางประยูรไม่ส่งข่าวและจำเลยทราบว่าสามีนางประยูรไม่ได้ไปทำงานต่างประเทศ แต่นางประยูรหลอกลวงจำเลยว่าได้เอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยไปค้ำประกันนายสมพงษ์ ไหมทองสามีของน้องสาวนางประยูร ซึ่งจำเลยก็ยินยอมเพราะถือว่าเป็นญาติกันต่อมาจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทนายโจทก์ให้ชำระหนี้เงินกู้55,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยจึงทราบว่าถูกนางประยูรหลอกลวงให้ลงชื่อในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์นำมาฟ้องโดยไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 75,625 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 55,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 จะรับฟังได้หรือไม่ เมื่อในการฟ้องคดีนี้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารหมาย จ.1 แนบมาท้ายฟ้องโดยไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โจทก์เพิ่งปิดอากรแสตมป์ก่อนส่งอ้างต่อศาลในวันสืบพยานโจทก์ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้เงินในขณะทำสัญญาหรือขณะยื่นคำฟ้องไม่ เมื่อสัญญากู้เงินดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วก่อนโจทก์ส่งสัญญาดังกล่าวต่อศาลในวันสืบพยานโจทก์ย่อมรับฟังสัญญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยลงชื่อในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 โดยสำคัญผิดและได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วนิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังว่าจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยชอบ ดังนั้นการที่จำเลยอ้างว่าลงชื่อในเอกสารหมาย จ.1 โดยสำคัญผิด จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วอันนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยบอกล้างแล้วจะนำมาใช้บังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์ชั้นฎีกาของจำเลยไม่เกินสองแสนบาท จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน