แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนอยู่ในเขตทางหลวงเทศบาลที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524เท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรืออาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าวและเมื่อกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มอบอำนาจให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงตลอดจนดำเนินการเจรจาทำความตกลงเรื่องเงินค่าทดแทนแล้ว หากโจทก์เห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับมีจำนวนน้อยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ออกมาบังคับใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 จะหมดอายุใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนจึงต้องกำหนดเท่ากับราคาขายที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาข้างต้นใช้บังคับ โดยเป็นไปตามความในข้อ 76 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองโดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นราคาคงที่อยู่ตลอดเวลาที่ยังคงใช้บัญชีดังกล่าวจึงมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ที่ดินของโจทก์ที่ 1อีกสองแปลงซึ่งติดอยู่กับที่ดินพิพาทซึ่งก็ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตทางหลวง โดยสองแปลงหลังนี้ได้รับค่าทดแทนเป็นเงินตารางวาละ6,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงควรได้รับค่าทดแทนที่ดินพิพาทในอัตราเท่ากันจึงจะเป็นค่าทดแทนที่สมควร
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา (เมือง) กรุงเทพมหานครซึ่งบางส่วนอยู่ในเขตแนวทางหลวงเทศบาลที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 เป็นเนื้อที่ 99 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดถนนสาธารณะกว้างเกินกว่า4 เมตร และลึกจากริมถนนซอยเข้าไปไม่เกิน 20 เมตร มีราคาซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใช้บังคับตารางวาละ 8,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 2,500 บาทเป็นเงิน 245,000 บาท จึงเป็นราคาค่าทดแทนที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 310,459.87 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 252,783.16 บาทแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 288,799.88 บาท และจากต้นเงิน235,147.13 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก นั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจออกแบบก่อสร้าง โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ตั้งงบประมาณให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกา จึงมอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกดังกล่าวตลอดจนดำเนินการเจรจาทำความตกลงเรื่องเงินค่าทดแทน ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ส่วนการกำหนดค่าทดแทนที่ดินนั้นเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับราคาตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526ที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดถูกเขตทางเนื้อที่ 98 ตารางวา ตารางวาละ2,500 บาท จึงได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน 245,000 บาท การกำหนดราคาค่าที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองเสีย แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ตามกฎหมายอื่น
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 346,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวน 346,500 บาท นับแต่วันที่17 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ที่ 1 รับ 94 ส่วนใน 170 ส่วนและโจทก์ที่ 2 รับ 76 ส่วนใน170 ส่วน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโลเขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไทแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง แขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 ซึ่งออกตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 มาตรา 1 และมาตรา 4 ได้บัญญัติให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะในท้องที่แขวงวัดท่าพระเขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโล เขตธนบุรี แขวงคลองเตยเขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครเท่านั้น เป็นเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน ส่วนแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริเวณที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งอยู่ไม่ได้ถูกเวนคืนด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยอาศัยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นได้นั้น เห็นว่า คดีนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนอยู่ในเขตทางหลวงเทศบาล ที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 เท่านั้น หาได้กล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา หรืออาศัยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาเป็นมูลฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีนี้ไม่และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวง เช่น ดำเนินการสำรวจ กำหนดแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ออกแบบจัดกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์และทำการก่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนดังกล่าว ตลอดจนดำเนินการเจรจาทำความตกลงเรื่องเงินค่าทดแทนแล้ว หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับมีจำนวนน้อยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมโจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเรื่องค่าทดแทนว่า ความจริงจำเลยที่ 1 จะต้องกำหนดค่าทดแทนค่าที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตามราคาตลาดในวันที่ 21 ธันวาคม 2514 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาตารางวาละไม่ถึง 2,500 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้ในคดีนี้แต่เพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองจึงได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินเท่ากับราคาตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2524 โดยกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงินตารางวาละ 2,500 บาท นั้น เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 แม้จะมีข้อความกำหนดให้มีผลเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พุทธศักราช 2482แต่ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวก็เป็นการกำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างเป็นทางหลวงแผ่นดินโดยอธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผู้ดำเนินการ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของทางหลวงจากทางหลวงแผ่นดินมาเป็นทางหลวงเทศบาล กับได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ออกมาใช้บังคับแทนเนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 จะหมดอายุใช้บังคับการกำหนดค่าทดแทนที่ดินจึงต้องกำหนดเท่ากับราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 20 ธันวาคม 2524อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาข้างต้นมีผลใช้บังคับโดยเป็นไปตามความในข้อ 76 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองโดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นราคาคงที่อยู่ตลอดเวลาที่ยังคงใช้บัญชีดังกล่าว ค่าทดแทนที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดจึงมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ส่วนราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดมีจำนวนเท่าใดนั้น ความข้อนี้นอกจากที่ดินพิพาทที่ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกช่วงถนนนางลิ้นจี่ถึงถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ 1 อีกสองแปลงซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทปรากฏตามแผนที่ที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย ล.5 ก็ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวด้วยโดยที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทั้งสองแปลงดังกล่าวได้รับค่าทดแทนเป็นเงินตารางวาละ 6,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงควรได้รับค่าทดแทนที่ดินพิพาทในอัตราเท่ากันจึงจะเป็นค่าทดแทนที่สมควร ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทในอัตราเดียวกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ซึ่งถูกกำหนดให้อยู่ในเขตแนวทางหลวงเทศบาลฯ ในคราวเดียวกันนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน