คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า จำเลยที่ 1 เอานาฬิกาของโจทก์ไปโดยโจทก์ยินยอม ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยฟังว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 เอานาฬิกาจากร้านโจทก์ไปเพราะได้ติดต่อกับพี่ชายโจทก์ไว้ เช่นนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220โจทก์ฎีกาว่าจำเลยเจตนาเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อนาฬิกาโดยติดต่อกับพี่ชายโจทก์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงฎีกาไม่ได้.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองลักนาฬิกา 5 เรือนของโจทก์ไปขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 (7), 336 ทวิ, 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เอานาฬิกาของโจทก์ไปโดยโจทก์ยินยอม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และตามคำพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมเอานาฬิกาไปกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ แต่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 เอานาฬิกาจากร้านโจทก์ไปเพราะได้ติดต่อซื้อกับพี่ชายโจทก์ไว้จึงเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน คดีจึต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท้จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาข้อ 2.1 ว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะจำเลยเจตนาเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเพื่อประโยชน์ของตน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว เห็นว่า ฎีกาโจทก์ดังกล่าวเท่ากับประสงค์จะให้ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยเจตนาทุจริต จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนฎีกาโจทก์ข้อ 2.2 ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เอานาฬิกาไปเพื่อหักหนี้เงินตามเช็ค อันเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องและข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อนาฬิกาโดยติดต่อกับพี่ชายโจทก์ ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาทั้งสิ้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้’
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share