แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์จากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยแจ้งว่ารถถูกลักไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดรถนั้นเนื่องจากมีผู้นำไปขนสินค้าหลบหนีภาษี ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเมื่อเกิดวินาศภัยแก่รถยนต์สูญหายไปเนื่องจากถูกคนร้ายลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน 80,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในชั้นฎีกามีปัญหาเพียงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 80,000 บาทที่จำเลยที่ 1 รับเอามาจากโจทก์คืนให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้เถียง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ม – 2530 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายปราบปรามหน่วยหัวหินยึดไป เนื่องจากมีผู้นำรถยนต์ดังกล่าวไปขนสินค้าหลบหนีภาษี หาได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลักไม่ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 เพราะตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประกันภัยกันไว้นั้น โจทก์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อเกิดวินาศภัยแก่รถยนต์ดังกล่าวสูญหายไปเนื่องจากถูกคนร้ายลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 80,000 บาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาตามทางปฏิบัติว่าโจทก์จะติดตามรถยนต์ดังกล่าวประมาณ 3 เดือน ถ้าไม่พบ โจทก์จึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนที่จะรับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นการต่างตอบแทนซึ่งกันและกันขึ้นมาเป็นข้ออ้างไม่ต้องคืนค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงิน 80,000 บาทให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย มิได้มีข้อตกลงที่จะใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 ตามทางที่ปฏิบัติดังจำเลยที่ 1 ฎีกาโต้เถียง”
พิพากษายืน