แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การมอบอำนาจให้ฟ้องหรือต่อสู้คดี ย่อมหมายความว่ามอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนทั้งเรื่องจนกว่าจะเสร็จสิ้น การที่จะมีคู่ความฝ่ายอื่นเช่นผู้ร้องสอดหรือผู้ร้องขัดทรัพย์เข้ามาในคดีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ได้ในขณะที่เริ่มฟ้องหรือต่อสู้คดีผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจกระทำการแทนตัวความในการต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาในคดีในภายหลังได้
ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ โจทก์จึงซื้อที่ดินจากจำเลยโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องจัดให้โจทก์ได้ภารจำยอมเหนือที่ดินทุกแปลงที่เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะจำเลยก็ได้แบ่งแยกที่ดินจนเหลือเป็นรูปถนนจดที่ดินของโจทก์และจดที่ดินทั้งสี่แปลงที่โจทก์ซื้อจากจำเลยเพิ่มเติม ซึ่งโจทก์อาจใช้เป็นถนนขนาดให้รถยนต์เข้าออกได้หมด ข้อตกลงเช่นนี้แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี
จำเลยโอนที่ดินให้แก่จำเลยร่วมภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และมีการทำแผนที่พิพาทแล้ว โดยจำเลยและจำเลยร่วมทราบข้อเท็จจริงที่ถูกฟ้องแล้วว่าที่ดินแปลงนี้จะต้องถูกบังคับให้ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมตามกฎหมาย คำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีกล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาทไปโดยรู้แล้วว่าที่ดินแปลงนี้กำลังถูกฟ้องบังคับให้ตกอยู่ในภารจำยอมเท่ากับจำเลยร่วมรับโอนโดยไม่สุจริตเมื่อจำเลยร่วมยื่นคำให้การเข้ามาในคดี จำเลยร่วมหาได้ปฏิเสธว่าตนเองรับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมยอมรับตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์แล้วว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตสิทธิและหน้าที่ของจำเลยในที่ดินแปลงนี้มีอยู่อย่างไร จำเลยร่วมย่อมต้องรับโอนจากจำเลยไปทั้งหมด รวมทั้งหน้าที่ที่จะต้องถูกบังคับให้ที่ดินแปลงนี้ตกอยู่ในภารจำยอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5477, 5478,14941 ถึง 14944 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ26854 และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 กับนางสมรักษ์คำสุวรรณ ซึ่งถึงแก่กรรมแล้วโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเดิมที่ดินของโจทก์ทั้งหกแปลงและที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือโฉนดเลขที่ 2207 โดยมีทางออกสู่ทางสาธารณะทางเดียวคือทางที่ดินโฉนดเลขที่ 26854 เพื่อผ่านไปยังที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นเจ้าของ และทางดังกล่าวนี้จำลยที่ 1 และเจ้าของยกให้เป็นทางสาธารณะใช้ชื่อว่าซอยประชาอุทิศ 59 (ซอยรุ่งเรือง) ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 2207 มีการแบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงจึงทำให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5477 และ 5478 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เจ้าของเดิมคือนายถมยา รุ่งเรือง บิดาจำเลยที่ 1 ได้จัดสรรแบ่งแยกและขายให้แก่โจทก์ 4 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 14941 ถึง 14944 และมีการตกลงจดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เป็นทางเข้าออกแก่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5477 และ 5478 กับจำเลยที่ 1 กับพวกยังได้จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 ได้ถูกกันไว้เป็นทางเข้าออกแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 ต่อมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านพักและปักป้ายห้ามผ่านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งหกแปลงดังกล่าวได้ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 เป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 5477, 5478, 14941, 14942, 14943 และ 14944 ให้โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ทางพิพาทบนที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยทั้งสองได้ และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสองสร้างบนที่ดินอันเป็นทางพิพาทและมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางการใช้ทางบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจรื้อถอนเองได้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 เป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 5477, 5478, 14941, 14942, 14943 และ14944 ของโจทก์ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนากับให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1267และ 26854 เป็นทางสาธารณะ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีอาณาเขตติดต่อกันทุกแปลงกับมิได้แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดียวกัน ที่ดินของโจทก์นั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้วคือทางด้านทิศเหนือมีอาณาเขตติดคลองแจงร้อนซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยปิดกั้นหรือขัดขวางการใช้ทางเข้าออกของโจทก์ จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของจำเลยที่ 1 มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงว่าจะไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และ 23440 เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหกแปลงส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 และ 26854 รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหายฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากล่วงเลยเวลามาเกือบ 20 ปีนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2518 อันเป็นวันที่โจทก์อ้างว่าทำข้อตกลงเรื่องภารจำยอมกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสาวบุญเรืองลิจันทร์พร ผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางสาวบุญเรืองเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
จำเลยร่วมให้การว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 ให้แก่โจทก์นั้น ใช้บังคับแก่จำเลยร่วมไม่ได้เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิ และข้อตกลงนั้นมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะคือออกทางด้านทิศเหนือซึ่งติดกับคลองแจงร้อนและมีทางเข้าออกผ่านที่ดินของจำลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยใช้ทางพิพาทตลอดระยะเวลาประมาณ 30 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะฟ้องคดีเกิน 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5477, 5478, 14941, 14942, 14943 และ 14944 ให้โจทก์และบริวารมีสิทธิใช้ภารจำยอมนั้นเป็นทางสัญจรออกสู่ถนนสาธารณะ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นขัดขวางการใช้สิทธิดังกล่าว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 23440, 1267 และ 26854 เป็นทางสาธารณะตามกฎหมายแล้วจึงให้ยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้และคำขอส่วนอื่น ๆ นอกจากที่พิพากษาไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5477, 5478 และ 14941 ถึง 14944 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5479, 26854 และถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 ร่วมกับนางสมรักษ์ คำสุวรรณซึ่งถึงแก่กรรมแล้วและมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก กับถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 ร่วมกับบุคคลอื่นจำเลยร่วมเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 จากจำเลยที่ 1 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1267, 26854 และ 23440 นั้น ผู้เป็นเจ้าของได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะแล้ว โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 คือซอยประชาอุทิศ 59 ที่ดินโฉนดเลขที่ 26854 คือซอยรุ่งเรือง 2 ซึ่งเป็นทางออกสู่ซอยประชาอุทิศ 59 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 เป็นทางเชื่อมระหว่างซอยรุ่งเรือง 2 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 และที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เป็นแนวกั้นที่ดินของโจทก์ทั้งหกแปลงที่จะออกสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 เพื่อผ่านซอยรุ่งเรือง 2 ไปยังซอยประชาอุทิศ 59 จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้าน 2 หลัง ลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 โดยหลังหนึ่งล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 23440 ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.33 และแผนที่แสดงที่ดินโจทก์และจำเลยเอกสารหมาย ล.12 คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 เท่านั้น
ที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจะจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 ให้โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2518 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 14941 ถึง 14944 รวม 4 โฉนด จากจำเลยที่ 1 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 กับเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ทั้งหมดในที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 ได้จดทะเบียนภารจำยอมในเรื่องทางเดินโดยให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1267 ตกอยู่ในภารจำยอมในเรื่องทางเดินแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5477 และ 5478 ของโจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทนและยินยอมให้รถยนต์ยวดยานพาหนะผ่านเข้าออกได้ และรูปคดีเชื่อได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 14941 ถึง 14944 จากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้โจทก์ได้ภารจำยอมเหนือที่ดินทุกแปลงที่เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะดังที่จำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 จนเหลือเป็นรูปถนนจดที่ดินโฉนดเลขที่ 5478 ของโจทก์ และจดที่ดินทั้งสี่แปลงที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 เพิ่มเติม ซึ่งโจทก์อาจใช้เป็นถนนขนาดให้รถยนต์เข้าออกได้หมด และข้อตกลงเช่นนี้แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี
ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิ บังคับได้เฉพาะคู่สัญญา จำเลยร่วมเป็นบุคคลภายนอกไม่ต้องผูกพันด้วยและไม่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 ให้แก่จำเลยร่วมภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และมีการทำแผนที่พิพาทแล้ว โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมทราบข้อเท็จจริงที่ถูกฟ้องแล้วว่าที่ดินแปลงนี้จะต้องถูกบังคับให้ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมตามกฎหมาย คำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 ไปโดยรู้แล้วว่าที่ดินแปลงนี้กำลังถูกฟ้องบังคับให้ตกอยู่ในภารจำยอม เท่ากับจำเลยร่วมรับโอนโดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำให้การเข้ามาในคดี จำเลยร่วมหาได้ปฏิเสธว่าตนเองรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 โดยสุจริตไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมยอมรับตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์แล้วว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5479 โดยไม่สุจริต สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในที่ดินแปลงนี้มีอยู่อย่างไร จำเลยร่วมย่อมต้องรับโอนจากจำเลยที่ 1 ไปทั้งหมดรวมทั้งหน้าที่ที่จะต้องถูกบังคับให้ที่ดินแปลงนี้ตกอยู่ในภารจำยอมตามที่โจทก์ฟ้องด้วยทำนองเดียวกันกับการรับโอนสิทธิซึ่งอยู่ในระหว่างที่มีข้อพิพาทเป็นคดีความกันอยู่ และจำเลยร่วมซึ่งกระทำการโดยไม่สุจริตย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายใด ๆ ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
ที่จำเลยร่วมฎีกาข้อสุดท้ายว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.1 โจทก์มอบอำนาจให้นายวิเชียรดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นมิได้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยร่วม การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์หรือทนายโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีย่อมหมายความว่ามอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนทั้งเรื่องจนกว่าจะเสร็จสิ้นการที่จะมีคู่ความฝ่ายอื่นเช่นผู้ร้องสอดหรือผู้ร้องขัดทรัพย์เข้ามาในคดีหรือไม่เป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ได้ในขณะที่เริ่มฟ้องหรือต่อสู้คดี ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจกระทำการแทนตัวความในการต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาในคดีในภายหลังได้
พิพากษายืน