แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นเพิ่มเติมจากประเด็นที่กำหนดไว้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าประเด็นที่โจทก์ขอเพิ่มเติมรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชี้ไว้แล้วไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมอีก ให้ยกคำร้อง ดังนี้ คำร้องของโจทก์เป็นเรื่องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติม ไม่มีข้อความโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องกำหนดหน้าที่นำสืบ ถือว่าโจทก์มิได้โต้แย้งประเด็นเรื่องนี้ไว้ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้โจทก์จะสร้างทางรถไฟเสร็จตามสัญญารับเหมาก่อสร้างและมีสิทธิเบิกเงินค่าก่อสร้างจากจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าวัสดุที่เบิกจากจำเลยและค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามสัญญาด้วย เมื่อโจทก์ไม่ชำระถือว่ายังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยจึงมีสิทธิยึดถือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันความเสียหายไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าว และมีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับโจทก์เนื่องจากหนี้ของจำเลยมีข้อโต้แย้งและมีจำนวนไม่แน่นอน แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้ไว้ เนื่องจากจำเลยมิได้ให้การหรือฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้เงินค่าวัสดุที่ติดค้างโดยการหักกลบลบหนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 โจทก์และบริษัทโรเบิตคอนสตรัคชั่น (แปซิฟิค) พี ที วาย จำกัด ได้ร่วมทำสัญญารับเหมาก่อสร้างวางรางรถไฟสายฉะเชิงเทรา – ท่าเรือสัตหีบช่วง 3 กิโลเมตรที่ 62.800 ถึง 194.251 และ 194.251 ถึง 195.613.50ให้แก่จำเลย ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 169,325,350 บาท และโจทก์ได้นำสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในวงเงิน 16,932,535 บาทมอบให้จำเลยเพื่อเป็นประกันความเสียหายและค่าปรับกรณีผิดสัญญาจำเลยรับมอบงานงวดสุดท้ายจากโจทก์แล้วแต่ไม่ยอมชำระค่าจ้างจำนวน1,195,910.70 บาท และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาประกันความเสียหาย1 ปี นับแต่โจทก์ส่งมอบงาน จำเลยก็ไม่ส่งมอบสัญญาค้ำประกันคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในเงินค่าจ้าง และค่าธรรมเนียมที่โจทก์ต้องรับภาระต่อธนาคารกรุงเทพจำกัด รวมเป็นเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้น 1,597,757.92 บาทแต่เนื่องจากการรับจ้างตามสัญญาโจทก์ทำให้วัสดุตามสัญญาของจำเลยสูญหายบางส่วน โจทก์ต้องชดใช้ให้เป็นเงิน 508,179.43 บาทเมื่อหักกับหนี้ของจำเลยแล้ว โจทก์ยังคงเป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่1,089,578.49 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,089,578.49 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 687,731.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชดใช้เงินค่าธรรมเนียมสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด อัตรา 1.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,923,535 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะส่งมอบสัญญาค้ำประกันคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้จำเลยในสภาพเรียบร้อยตามสัญญา และโจทก์ทำให้วัสดุของจำเลยสูญหายเสียหายกับคิดค่าขนส่งหมอนและวัสดุเกินสัญญารวมเป็นเงินทั้งสิ้น3,388,827.81 บาท แต่จำเลยจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์เพียง 1,195,910.70 บาทซึ่งน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชดใช้ให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และมีสิทธิยึดหน่วงสัญญาค้ำประกันไว้จนกว่าโจทก์จะชำระค่าเสียหายให้จำเลยเสร็จสิ้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ส่งมอบงานให้จำเลยเสร็จเรียบร้อยและพ้นระยะเวลาประกันซึ่งมีกำหนด 1 ปีแล้ว แต่จำเลยโต้แย้งว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ในค่าวัสดุที่ส่งคืนไม่ครบถ้วนหรือค่าเสียหายย่อมตกแก่จำเลยในการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าค่าวัสดุที่สูญหายมีเพียงใด หาใช่เป็นภาระตกแก่โจทก์ดังที่ศาลล่างวินิจฉัยไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้โจทก์เคยโต้แย้งไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2530 แล้ว เห็นว่าตามคำร้องฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม2530 โจทก์ได้แถลงขอตั้งประเด็นเพิ่มเติมจากประเด็นข้อ 3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า “โจทก์ค้างค่าเสียหายต่าง ๆ แก่จำเลยเป็นเงินเท่าใด” เป็นว่า “โจทก์ค้างค่าวัสดุและค่าเสียหายต่าง ๆแก่จำเลยเท่าใดและมีสิทธิหักกับเงินผลงานงวดสุดท้ายของโจทก์จำนวนเท่าไร” ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ประเด็นที่โจทก์ขอเพิ่มเติมนั้นรวมอยู่ในประเด็นข้อ 3 ที่ศาลชี้ไว้แล้วไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมอีกให้ยกคำร้อง ดังนั้นตามคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติม ไม่มีข้อความใดเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องกำหนดหน้าที่นำสืบถือว่าโจทก์ไม่ได้โต้แย้งในประเด็นเรื่องนี้ไว้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อที่สองที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ออกให้แก่จำเลยนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยตกลงยอมรับกันว่าค่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างวางรางรถไฟตามฟ้องที่จำเลยส่งให้โจทก์นั้นจะคิดหักกันในการชำระเงินงวดสุดท้าย ดังนั้น แม้โจทก์จะสร้างทางรถไฟเสร็จตามสัญญา และมีสิทธิเบิกเงินค่าก่อสร้างจากจำเลยก็ตามแต่โจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าวัสดุที่เบิกจากจำเลยและค่าเสียหายให้แก่จำเลยด้วยตามสัญญาเอกสารหมาย ล.6 เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าวัสดุและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามสัญญาอยู่ดังกล่าวแต่โจทก์ยังไม่ชำระถือว่าโจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดถือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.11ไว้เป็นประกันหนี้ได้ และมีสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับโจทก์เนื่องจากหนี้ของจำเลยมีข้อโต้แย้งและมีจำนวนไม่แน่นอนนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ เนื่องจากจำเลยมิได้ให้การหรือฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้เงินค่าวัสดุที่ติดค้างโดยการหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน