คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยชำระเงินกับออกเช็คสั่งจ่ายเงินชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีที่ดินที่จะขายให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงแล้วโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อกัน ในการทำสัญญาดังกล่าวแม้จะฟังตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยทั้งสองลงชื่อไปเพราะโจทก์พูดว่า ‘ต้องคืนเงิน (ที่จำเลยรับไป)ถ้าไม่คืนจะเอาเข้าตะราง’ ก็ดี หรือทนายโจทก์พูดว่า ‘ขอให้คืนมัดจำและเช็คให้เสีย ถ้าไม่คืนเงินจะให้เอาเข้าตะราง’ ก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์ขู่ว่า ถ้าจำเลยไม่คืนเงินและเช็คที่รับไปแล้ว โจทก์จะฟ้องเอาผิดกับจำเลยทางอาญาฐานฉ้อโกง อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตเพราะตนมีสิทธิในมูลกรณีนั้น ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมหาจัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และไม่ใช่เรื่องหลอกลวงสัญญาประนีประนอมยอมความจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ดิน 43จากจำเลยที่ 1 ราคา 160,000 บาท โดยชำระเงิน 40,000 บาทกับออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 20,000 บาท ชำระราคาค่าที่ดินให้จำเลยที่ 1และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ ต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวทางอำเภอไม่เคยออก น.ส.3 ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรต่อศาลในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง และต่อมาโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เลิกหนังสือจะซื้อจะขายข้างต้น โดยจำเลยที่ 1 ได้คืนเช็คที่รับไปและยอมคืนเงิน40,000 บาทแก่โจทก์ กำหนดชำระคืนเป็น 2 งวด กับยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนในต้นเงิน 40,000 บาท ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2513 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทวงถามแล้ว จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงิน 40,000 บาท กับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 43,399.84 บาท และใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนในต้นเงิน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองถูกโจทก์และบุคคลอื่นขู่เข็ญและหลอกลวงให้ลงชื่อว่าจะถอนฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองหากไม่ยอมลงชื่อจะขอให้มีการคุมขังกับโจทก์ได้สมคบกันบอกว่ามีคนอื่นจะซื้อที่ดินอยู่แล้ว ให้ขายไปเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์จำเลยทั้งสองจึงลงชื่อในหนังสือสัญญาประนีประนอม โดยไม่สมัครใจจะให้มีความผูกพันกับโจทก์ตามสัญญา สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาฐานฉ้อโกง ในวันนัดพร้อมสอบถาม โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อกัน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้ถูกโจทก์ นายศลย์ และนายเฉลียวทนายความขู่เข็ญและหลอกลวงให้จำเลยทั้งสองลงชื่อในการทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างนำสืบโต้แย้งกันอยู่ อย่างไรก็ดี แม้จะฟังตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยทั้งสองลงชื่อไปเพราะโจทก์พูดว่า “ต้องคืนเงิน (ที่จำเลยรับไป) ถ้าไม่คืนจะเอาเข้าตะราง”ก็ดี หรือนายศลย์ทนายโจทก์พูดว่า “ขอให้คืนมัดจำและเช็คให้เสีย ถ้าไม่คืนเงินให้จะเอาเข้าตะราง” ก็ดี หรือที่นายเฉลียวทนายจำเลยพูดว่า “ถ้าศาลไต่สวนมีมูลก็ต้องประกันตัว ถ้าไม่ประกันก็จะต้องติดตะราง” ก็ดี เป็นเรื่องที่โจทก์ขู่ว่าถ้าจำเลยไม่คืนเงินและเช็คที่รับไปแล้ว โจทก์จะฟ้องเอาผิดกับจำเลยทางอาญาฐานฉ้อโกง อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต เพราะตนมีสิทธิในมูลกรณีนั้นดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ความกลัวต่อการขู่ว่าจะใช้สิทธิอันใดอันหนึ่งตามปกตินิยมนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 127 หาจัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแต่ประการใดสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.4 จึงสมบูรณ์ ใช้บังคับกันได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น

พิพากษายืน

Share