คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2965/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปีก็ดี ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถก็ดี ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยก็ดี ล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่แยกต่างหากจากกันและเป็นความผิดสำเร็จได้ในแต่ละฐานโดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม คือ จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 3 บ – 6579ไปตามถนนพระราม 3 โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมิได้เสียภาษีประจำปีตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2542 เป็นต้นมา จนถึงวันกระทำความผิด ทั้งจำเลยมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยบริษัทประกันภัยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องที่ 3 นับจากซ้ายมือเข้ามาในช่องเดินรถช่องที่ 2 โดยกะทันหัน รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขับพุ่งเข้าชนกับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร7 ผ – 8463 ซึ่งมีนายธนภูมิ สุคนธพฤกษ์ ผู้เสียหายเป็นผู้ขับในช่องเดินรถช่องที่ 2 ซึ่งมุ่งหน้าไปทางเดียวกับจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส กระดูกข้อเท้าหัก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติเกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6,42, 60, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2539 มาตรา 4, 7, 11, 39

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 60 (ที่ถูกมาตรา 59), 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2539 มาตรา 7, 11, 39เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 2,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถปรับ 600 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ปรับ 14,000 บาท รวมโทษจำคุก1 ปี และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ8,300 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยให้ปรับ 6,000 บาท รวมโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 8,600 บาทเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,300 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า การกระทำความผิดฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ และฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเห็นว่า ความผิดฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปีก็ดี ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถก็ดี ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยก็ดี ล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่แยกต่างหากจากกัน และเป็นความผิดสำเร็จได้ในแต่ละฐานโดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share