คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2965/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยได้เลิกจ้าง โดยมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2519 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลแรงงานบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่หรือเรียกค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน มาตรา 49 ได้ส่วน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์นี้ก็ไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับจำเลยตามคำขอข้างต้น

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ในตำแหน่งเดิม หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้เลิกจ้างโดยมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 14สิงหาคม 2519 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีขอให้ศาลแรงงานบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่หรือเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ได้ ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์นี้ ก็ไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับจำเลยตามคำขอข้างต้น ปัญหานี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247”

พิพากษายืน

Share