คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963-2964/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินทำขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ระบุให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 โอนสินทรัพย์และหนี้สินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยกำหนดว่าหนี้สินได้แก่เงินฝาก เงินกู้ยืม ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ หนี้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสองเป็นหนี้สามัญตามสัญญาดังกล่าว จึงโอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวต้องรับผิดในหนี้ข้างต้นต่อโจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 มีความหมายชัดแจ้งว่าบุคคลที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นต้องมีลักษณะเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงจะมีหน้าที่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ เมื่อปรากฏว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองได้โอนไปยังจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในลักษณะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีหน้าที่ตามบทมาตรา 91 ที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง
ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นสินจ้าง มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,432,484 บาท กับดอกเบี้ย 770,892.25 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,432,484 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,611,244 บาท กับดอกเบี้ย 867,092.06 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,611,244 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า สิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ซึ่งเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 โอนมายังจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2541 กำหนดให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของบริษัทเงินทุน 12 บริษัท รวมทั้งจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 แก่จำเลยที่ 3 ในหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ระบุว่า ให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยสัญญากำหนดว่า หนี้สิน ได้แก่ เงินฝาก เงินกู้ยืม ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ จึงเห็นได้ว่าตามประกาศกระทรวงการคลังมีผลให้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 โอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 และหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 ซึ่งรวมทั้งหนี้สินที่รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 โอนตกเป็นของจำเลยที่ 3 หนี้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ซึ่งถือว่าเป็นหนี้สามัญ ตามความหมายของคำว่า หนี้สิน ในสัญญาดังกล่าวย่อมโอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวต้องรับผิดในหนี้ข้างต้นแก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองดังกล่าวยังไม่โอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ข้อสองว่า สิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 ไม่ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ที่โจทก์ทั้งสองต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 91 ดังกล่าว กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต่อเมื่อลูกหนี้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันมีความหมายชัดแจ้งว่าบุคคลที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นต้องมีลักษณะเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงจะมีหน้าที่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ เมื่อปรากฏว่าหนี้ในเงินต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองข้างต้นได้โอนไปยังจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2545 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในลักษณะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่โจทก์ทั้งสองไม่นำหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ข้อสามว่า สิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ทั้งสองมีอายุความ 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ นั้น เห็นว่า สิทธิของลูกจ้างในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 45 ถือเป็นสินจ้าง จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) หาใช่ 10 ปี ไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสองอาจบังคับสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2541 อันเป็นวันเลิกจ้าง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ซึ่งเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้อง คดีเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าชดเชย 1,106,640 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 264,364 บาท แก่โจทก์ที่ 1 กับค่าชดเชย1,266,480 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 302,548 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 จนกว่าชำระเสร็จตามลำดับให้แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share