คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกกระทงละ 1 ปีจึงห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคแรก พยานหลักฐานโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันหลายประการและเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน อีกทั้งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานจ้าง วานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้ และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานจ้าง วาน ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา185 วรรคแรก เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 83, 84, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 84, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2แต่คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนทะเบียนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)ข้อหาอื่นให้ยก คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ของกลางศาลมีคำสั่งริบแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 355/2532 ของศาลชั้นต้น จึงยกคำขอนี้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกกระทงละ 1 ปี จึงห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกคงมีปัญหามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะความผิดฐานจ้าง วานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จ่าสิบเอกทองสุขผู้ตายเป็นสามีจำเลยที่ 1 มีบ้านพักอยู่ที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แต่รับราชการทหารอยู่ที่จังหวัดตาก ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกลับมาเยี่ยมครอบครัวตามปกติที่จังหวัดพิษณุโลก วันเกิดเหตุผู้ตายขึ้นรถโดยสารประจำทางพิษณุโลก-ตากที่ถนนหน้าบ้านจะกลับไปจังหวัดตาก ขณะรถกำลังแล่นอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย ก็ถูกนายสำเริงใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายบนรถโดยสารประจำทาง โดยมีนายโจ้งและนายหยงพวกของนายสำเริงคอยคุ้มกันอยู่ใกล้ ๆ แล้วบุคคลทั้งสามได้ลงจากรถหลบหนีไป เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับนายสำเริง นายโจ้ง และนายหยงได้ บุคคลทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย และซัดทอดว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จ้างให้บุคคลทั้งสามไปยิงผู้ตายได้ค่าจ้าง 20,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายสำเริงนายโจ้งและนายหยง จำคุกตลอดชีวิตตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 111/2532หมายเลขแดงที่ 355/2532 ของศาลชั้นต้น สำหรับปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมานั้น โจทก์มีนายโจ้งและนายหยงเบิกความประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของนายโจ้ง นายสำเริง และนายหยงตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.6 ได้ความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ไปหานายโจ้งที่บ้าน พบนายสำเริงและนายหยง แล้วได้พาบุคคลทั้งสามไปพูดคุยกันที่ห้างนาข้างบ่อปลาของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ประสงค์จะหามือปืนยิงผู้ตาย นายโจ้ง นายสำเริงและนายหยงรับจะไปยิงผู้ตายโดยนายสำเริงจะเป็นคนลงมือยิงค่าจ้าง 20,000 บาท จำเลยที่ 2 รับจะเป็นคนจัดหาอาวุธปืนให้วันเกิดเหตุบุคคลทั้งสี่นัดพบกันที่บ่อปลาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2มอบอาวุธปืนให้นายโจ้งและนายสำเริงคนละ 1 กระบอก แล้วได้ขับรถจักรยานยนต์พานายโจ้ง นายสำเริง และนายหยงไปคอยขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทางผู้ตายจะขึ้นเดินทางไปจังหวัดตาก พอผู้ตายขึ้นรถแล้วจำเลยที่ 2 ก็มาบอกให้บุคคลทั้งสามทราบและขึ้นรถไปด้วยกับผู้ตายระหว่างทางนายสำเริงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายบนรถโดยสารประจำทางแล้วบุคคลทั้งสามได้ลงจากรถหลบหนีไป หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้นำเงิน 20,000 บาทมาให้บุคคลทั้งสามที่บ้านนายหยงแบ่งกันคนละ6,500 บาท เหลือ 500 บาทนำไปซื้อสุราอาหารมาเลี้ยงกัน แต่นายสำเริงผู้ร่วมกระทำผิดกับนายโจ้งและนายหยงกลับเบิกความว่า นายโจ้งเป็นคนรับงาน (ยิงผู้ตาย) จากผู้ว่าจ้างเป็นเงิน 20,000 บาทซึ่งไม่ใช่จำเลยที่ 2 พยานไม่เคยพบหน้าผู้ว่าจ้าง วันเกิดเหตุพยานนายโจ้งและนายหยงนัดพบกันที่ห้างนาข้างบ่อปลาของจำเลยที่ 2ได้พบจำเลยที่ 2 อยู่ที่นั่นด้วยแล้วจำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถจักรยานยนต์พาบุคคลทั้งสามไปส่งไว้ริมถนนสายพิษณุโลก-สุโขทัยแล้วก็จากไปไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอะไรอีก นายโจ้งเป็นคนบอกให้พยานกับนายหยงขึ้นรถโดยสารประจำทางและชี้ให้พยานยิงผู้ตาย คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานเอกสารหมาย จ.5 ไม่เป็นความจริง คำเบิกความของนายสำเริงแตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของนายโจ้งและนายหยงและไม่ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.5 เกี่ยวกับอาวุธปืน 2 กระบอก ตามฟ้อง นายโจ้งให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความว่า จำเลยที่ 2 พานายโจ้งไปขอยืมอาวุธปืนจากนายแสวง 1 กระบอกให้นายโจ้งติดตัวไว้ ส่วนอาวุธปืนที่นายสำเริงใช้ยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 มอบให้นายสำเริงในวันเกิดเหตุแต่นายแสวงเบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุ 5 วัน นายโจ้งกับนายน้อมมาขอยืมอาวุธปืนจากพยานไป 1 กระบอก พยานรู้จักนายโจ้งกับนายน้อมมานานแล้วครั้งตอบทนายจำเลยถามค้านและโจทก์ถามติงกลับว่านายโจ้งมาขอยืมอาวุธปืนบอกว่านายน้อมมาด้วยไม่ทราบว่านายน้อมไหนและไม่เห็นตัวนายน้อมเพราะเป็นเวลาค่ำมืด และไม่ทราบว่าเป็นนายน้อม บัวใบ หรือไม่และในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่ว่านายน้อมเป็นคนพูดขอยืมอาวุธปืนไม่เป็นความจริง ส่วนนายสำเริงเบิกความว่าอาวุธปืนที่พยานยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนของพยานเอง คำเบิกความของนายแสวงและนายสำเริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปยืมอาวุธปืนจากนายแสวงให้นายโจ้งและเอาอาวุธปืนของตนให้นายสำเริงไปใช้ยิงผู้ตายส่วนเงินค่าจ้างยิงผู้ตายนั้น นายโจ้งและนายหยงเบิกความตรงกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนนำมาให้ นายสำเริงนายโจ้งและนายหยงแบ่งกันคนละ 6,500 บาท ที่บ้านของนายหยง แต่นายสำเริงเบิกความว่า นายโจ้งเป็นคนนำเงิน 6,500 บาท มาให้พยานจะเป็นเงินผู้ใดและนำมาจากที่ใดพยานไม่ทราบ ข้อที่พ้นตำรวจโทเปลื้องคำลือมี พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.13 (4 แผ่น) และได้นำชี้ที่เกิดเหตุร่วมกับนายสำเริง นายโจ้งและนายหยง กับแสดงท่าให้ถ่ายภาพประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุหมาย จ.15 และภาพถ่ายหมาย จ.3(รวม 20 ภาพ) ด้วย ได้ความจากร้อยเอกวิเชียร โตรด ผู้บังคับบัญชาผู้ตาย พยานจำเลยว่า ผู้ตายเป็นทหาร พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่มีนายทหารพระธรรมนูญมาร่วมฟังการสอบสวนด้วยตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว และต่อมาก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อหน้านายทหารพระธรรมนูญที่มาร่วมฟังการสอบสวน อ้างว่าที่ให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ว่าจะทำร้าย ดังที่พันตำรวจโทเปลื้องบันทึกไว้ท้ายคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.16ซึ่งได้กระทำต่อหน้าพันตรีศรายุทธ กลิ่มมาหอม นายทหารพระธรรมนูญที่มาร่วมฟังการสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยมีข้อแตกต่างขัดแย้งกันหลายประการ และเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน อีกทั้งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานจ้าง วาน ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานจ้าง วาน ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคแรกเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วย.

Share