คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2961/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปรากฏชื่อโจทก์ในทะเบียนที่ดิน กรณีจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ศาลชอบที่จะกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาขายฝากซึ่งทำไว้แก่ จ. ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทน จ. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเพื่อตนเอง อันถือได้ว่าเป็นวันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๙๐๗ โดยซื้อจาก นางแจ๋วเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยนำมาขายฝากไว้ต่อนางแจ๋ว แต่มิได้ไถ่คืนจึงตกเป็นของนางแจ๋ว ระหว่างขายฝากนางแจ๋วอนุญาตให้จำเลยทำประโยชน์ เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากนางแจ๋วแล้วได้แจ้งให้จำเลยออกจากที่ดิน แต่จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่และชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลย โจทก์ซื้อที่ดินจากนางแจ๋วภายหลังจากจำเลยขอไถ่ถอนคืน สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางแจ๋วทำขึ้นเพื่อฉ้อโกงจำเลยโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน ๑ ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเรื่องหน้าที่นำสืบซึ่งจำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมี น.ส.๓ ก. การซื้อขายระหว่างโจทก์และนางแจ๋วได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์จึงเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๓ ว่า ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนนั้นเป็นการชอบแล้ว
สำหรับฎีกาจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน ๑ ปีนั้น เห็นว่า จำเลยรับว่าทำกินในที่ดินโดยนางแจ๋วคิดดอกเบี้ยปีละ ๑,๐๐๐ บาทจึงแสดงว่าเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนนางแจ๋ว มิใช่เป็นการยึดถือเพื่อตนเอง และหากจะมีการเปลี่ยนลักษณะการยึดถือมาเป็นยึดถือเพื่อตนเอง ก็ต้องเป็นเวลาภายหลังวันสุดท้ายที่จำเลยมีสิทธิไถ่หรือวันที่นางแจ๋วโอนขายแก่โจทก์คือวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๒ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓ จึงเป็นการฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share